สธ.สงขลา ห่วงสุขภาพเด็ก เสี่ยงโรค มือ ปาก ระบาดในช่วงเปิดเทอมและเข้าสู่ฤดูฝน


25 มิ.ย. 2559

สธ.สงขลา ห่วงสุขภาพเด็ก เสี่ยงโรค มือ ปาก ระบาดในช่วงเปิดเทอมและเข้าสู่ฤดูฝน แนะศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ควรตรวจคัดกรองเด็กนักเรียนทุกวัน หากพบเด็กอาการเข้าข่ายให้แยกเด็กป่วยไม่ให้คลุกคลีกับเด็กปกติ และควรส่งต่อเพื่อรับการรักษา

PNOHT590625001001001.jpg

ในระยะนี้เป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูระบาดหลักของโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และช่วงเปิดเทอมเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก อาจจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ได้ง่ายขึ้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เตือนผู้ปกครองและผู้ดูแลศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ให้เพิ่มความระมัดระวังป้องกันโรค ให้มากขึ้น

นายแพทย์สรรพงษ์ ฤทธิรักษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากสถานการณ์โรค มือ เท้า ปาก ของจังหวัดสงขลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 26 พฤษภาคม 2559 พบรายงานผู้ป่วย 238 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเด็กในกลุ่มอายุแรกเกิด ถึง 4 ปี อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 290.43 ราย รองลองมาพบในกลุ่มอายุ 5-9 ปี และ 10-14 ปี ตามลำดับ เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการเกิดโรคดังกล่าว จากสภาวะอากาศที่เย็นจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กเล็กอ่อนแอลง เจ็บป่วยง่ายขึ้น และเป็นช่วงเปิดเทอมการอยู่ร่วมกันในอาคารเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของโรคได้ง่าย สำหรับ “โรคมือเท้าปาก” เกิดจากเชื้อไวรัสในลำไส้มนุษย์ หรือเอนเทอโรไวรัส (Enterovios) สามารถติดต่อได้ง่าย เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางปากโดยตรง โดยเชื้ออาจติดมากับมือ ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น ช้อน แก้วน้ำ หรือของเล่น ที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผลในปาก ลูกบิด ราวบันได หรืออุจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการป่วย และโดยทั่วไปอาการโรคมือ เท้า ปาก จะไม่รุนแรงและสามารถหายเป็นปกติได้ภายใน 7-10 วัน หรืออาจพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย หรือมีอาการไข้ ร่วมกับตุ่มพองเล็กๆ เกิดขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก โดยตุ่มแผลในปากส่วนใหญ่ พบที่เพดานอ่อนลิ้นกระพุ้งแก้ม เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บมีน้ำลายไหล ในบางรายอาจไม่พบตุ่มพุพอง แต่บางรายจะมีอาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่มีการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อจากเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) อาจมีอาการทางสมองร่วมด้วยและเสียชีวิตได้

สำหรับ ในระยะนี้ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ควรตรวจคัดกรองเด็กนักเรียนทุกวัน หากพบเด็กมีไข้ หรือมีอาการสงสัยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้แยกเด็กป่วยไม่ให้คลุกคลีกับเด็กปกติ ให้เด็กที่ป่วยหยุดเรียน และส่งต่อเพื่อรับการรักษา และระยะนี้ควรดูแลให้เด็กล้างมือบ่อยๆ หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือ ของใช้ และของเล่นเด็ก สำหรับผู้ปกครองควรป้องกันโรคมือ เท้า ปาก แก่ลูกหลาน โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และระมัดระวังการไอรดกัน ล้างมือให้สะอาดก่อนและกินอาหาร และหลังการขับถ่าย ใช้ช้อนกลางและหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำ หรือหลอดดูดร่วมกัน ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ไม่ควรนำเด็กเล็กไปในชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี

ข้อมูลและที่มา

ผู้สื่อข่าว : สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา