การวางแผนภาษี ด้วยกองทุนรวม LTF/RMF ( สาระน่ารู้จาก ธปท.ใต้)
ผู้เขียน คุณวิศรุต ตระกูลวีระยุทธ
ผู้วิเคราะห์ ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
การวางแผนภาษี ด้วยกองทุนรวม LTF/RMF
หากกล่าวถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ท่านสามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์จากการออมและการลงทุนได้หลายรูปแบบ เช่น เบี้ยประกันชีวิตระยะยาว เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย รวมถึงการลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภท LTF/RMF ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับกองทุนรวมทั้ง 2 ประเภทนี้กันครับ
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund: LTF) จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2547 เน้นลงทุนในหุ้นสามัญ จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง แต่ก็ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งสามารถลงทุนได้ 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี หรือไม่เกิน 500,000 บาท โดยผู้ลงทุนต้องลงทุนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทินจึงจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ คนส่วนใหญ่มักนิยมซื้อกองทุนรวม LTF ในช่วงปลายปี ซึ่งช่วงนั้นมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) อาจจะมีมูลค่าสูงขึ้นแล้ว ทำให้ต้นทุนในการลงทุนสูงขึ้น
ดังนั้นท่านอาจเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุน 2 รูปแบบนี้ คือ กลยุทธ์ Dollar Cost Averaging เป็นการลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยจำนวนเงินเท่า ๆ กัน ในช่วงเวลาเท่ากัน ซึ่งถือเป็นการซื้อเพื่อเฉลี่ยต้นทุน หรืออาจใช้กลยุทธ์ Market Timing เพื่อหาเวลาที่เหมาะสมและดีที่สุดที่จะซื้อหรือขายกองทุน ซึ่งกลยุทธ์นี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการลงทุน อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีของ LTF ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี จากที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2559 เป็น 31 ธ.ค. 2562 และปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องการถือครองสำหรับหน่วยลงทุนที่ซื้อหลังวันที่ 1 ม.ค. 2559 ผู้ลงทุนต้องถือครองเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน ดังนั้นช่วงนี้ถือเป็นช่วงปลายปี 2558 แล้ว หากใครมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ควรใช้สิทธิจากการลงทุนในกองทุนรวม LTF เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF) จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2544 มีนโยบายการลงทุนที่มีความหลากหลายมากกว่า เช่น กองทุนรวมตราสารทุน/หนี้ กองทุนรวมทองคำ และกองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศ เป็นต้น จะเห็นได้ว่ากองทุนรวม RMF มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย จึงรองรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับที่แตกต่างกัน สำหรับเงื่อนไขการลงทุนของกองทุนรวม RMF สามารถลงทุนได้ 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และเมื่อนับรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ /กบข. และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ส่วนเงื่อนไขการขายคืนคือ ต้องลงทุนทุกปี หรือ ปีเว้นปี ในจำนวนไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี โดยผู้ลงทุนต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกและถือจนกระทั่งอายุ 55 ปีบริบูรณ์ จึงถือว่าเข้าเงื่อนไขทางภาษี โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของตราสารต่าง ๆ ที่กองทุนรวม RMF ไปลงทุน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-2557 เช่น การลงทุนผ่านตลาดหุ้น เท่ากับ 13.04% ทองคำ เท่ากับ 8.84% พันธบัตรระยะยาวช่วงอายุ 3-7 ปี เท่ากับ 4.74% เงินฝากประจำ 1 ปี เท่ากับ 2.16% แต่อัตราเงินเฟ้อโดยเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน เท่ากับ 2.64% จะเห็นได้ว่าอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของเงินฝากประจำ 1 ปีจะมีค่าติดลบ 0.48%
โดยในปัจจุบันผู้ฝากเงินส่วนใหญ่เริ่มมีความรู้เรื่องการลงทุนมากขึ้นและย้ายฐานจากการฝากเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำมาลงทุนผ่านกองทุนรวม LTF/ RMF ที่แม้จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่ก็ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าและยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย ทั้งนี้ท่านจะเลือกซื้อกองทุนรวมประเภทใดนั้นก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ท่านยอมรับได้ สัดส่วนการลงทุน ณ สิ้นปี 2557 พบว่า มีการลงทุน LTF 60% และ RMF 40% คนส่วนใหญ่จะสนใจลงทุน RMF น้อยกว่าเพราะคิดว่าเป็นเงินออมเพื่อเกษียณ แต่จริง ๆ แล้วกองทุนรวม RMF นี่แหละคือการฝึกวินัยการออมอย่างแท้จริงครับ
เนื้อหานี้ในภาษาอื่น