สาระน่ารู้กับ ธปท.ภาคใต้ ตอน “กองทุนการออมแห่งชาติ”


26 ม.ค. 2559

กองทุนการออมแห่งชาติ

ตอนนี้เรื่องการเตรียมเงินให้พอใช้จ่ายในช่วงหลังเกษียณอายุเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ ใครที่มีรายได้ประจำก็อาจเบาใจหน่อย เพราะพอจะมีระบบต่าง ๆ รองรับอยู่ ขึ้นอยู่กับประเภทของที่ทำงานของแต่ละคน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

แต่สำหรับผู้ที่เข้าข่ายเป็นแรงงานนอกระบบหรือประชาชนทั่วไปอีก 35.5 ล้านคนทั่วประเทศที่ยังไม่มีระบบการออมเงินรองรับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ก็จะเป็นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือเรื่องการออมเงินของประชาชนในส่วนนี้ครับ ซึ่งผู้ที่มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิก กอช. จะต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญภาครัฐหรือเอกชนหรือกองทุนตามกฎหมายอื่นที่ได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้าง และมีอายุตั้งแต่ 15 ถึง 60 ปี โดยสามารถสมัครผ่าน สาขาธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งผู้มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป สมัครสมาชิกภายในวันที่ 25 กันยายน 2559 สามารถเป็นสมาชิกได้เป็นเวลา 10 ปีครับ

01.jpg

ส่วนหลักการออมของ กอช. นั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เงินที่สมาชิกออมหรือเงินสะสม และเงินที่รัฐจ่ายสมทบ โดยเงินสะสมของสมาชิกต้องไม่ต่ำกว่าครั้งละ 50 บาท โดยไม่จำเป็นต้องส่งเงินทุกเดือนหรือส่งเป็นจำนวนเท่ากันทุกเดือน แต่รวมทั้งปีแล้วเงินที่ส่งเข้ามาจะต้องไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี และรัฐจะจ่ายสมทบให้ตามช่วงอายุ คือ หากสมาชิกอายุตั้งแต่ 15 แต่ไม่เกิน 30 ปี รัฐจะสมทบให้ร้อยละ 50 ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 600 บาทต่อปี ส่วนกลุ่มอายุมากกว่า 30 แต่ไม่เกิน 50 ปี อัตราการสมทบจะเพิ่มเป็นร้อยละ 80 ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 960 บาทต่อปี สุดท้ายสำหรับสมาชิกอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป รัฐจะจ่ายสมทบร้อยละ 100 ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี (แต่หากเดือนใดสมาชิกไม่ส่งเงินเข้ากองทุน รัฐก็จะไม่จ่ายสมทบให้นะครับ)

ส่วนสุดท้ายที่น่าจะเป็นส่วนที่หลาย ๆ คนให้ความสนใจมากที่สุด คือ กอช. จะจ่ายเงินให้แก่สมาชิกเมื่อใดและอย่างไร เรื่องนี้คำตอบจะแบ่งเป็น 4 กรณีครับ คือ

(1) กรณีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ (รวมทั้งสมาชิกที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เมื่อครบระยะเวลา 10 ปี หรือลาออกเมื่ออายุครบ 60 ปี) หากคำนวณเงินบำนาญได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับเงินบำนาญตลอดชีวิต หากได้น้อยกว่าเกณฑ์จะได้รับเป็นเงินดำรงชีพเดือนละ 600 บาทจนกว่าเงินในบัญชีจะหมด

(2) กรณีทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี สามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินที่สมาชิกสะสมเองพร้อมดอกผลทั้งจำนวนหรือบางส่วน โดยขอรับได้เพียงครั้งเดียว และเงินส่วนที่รัฐจ่ายสมทบพร้อมดอกผลจะจ่ายเป็นเงินบำนาญหลังอายุครบ 60 ปี หากยังมีเงินสะสมเหลืออยู่ในกองทุน ก็จะนำมาคำนวณการจ่ายบำนาญด้วย

(3) กรณีลาออกจากกองทุน จะได้รับเงินที่สมาชิกส่งสะสมเองพร้อมดอกผลทั้งจำนวน แต่เงินส่วนที่รัฐสมทบจะตกเป็นของกองทุน

(4) กรณีเสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์ที่สมาชิกแจ้งชื่อไว้จะได้รับเงินในบัญชีทั้งหมดครับ

D11.jpg

ที่ผมเล่ามาเป็นเพียงรายละเอียดบางส่วนเกี่ยวกับ กอช. เท่านั้น ซึ่งคุณผู้อ่านโดยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.nsf.or.th ของ กอช. ครับ และนอกจากการออมกับระบบต่าง ๆ ที่ภาครัฐหรือนายจ้างได้จัดให้มีขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงในยามเกษียณให้ประชาชนหรือลูกจ้างแล้ว เรายังสามารถออมอย่างมีวินัยด้วยตนเองได้ เช่น การเปิดบัญชีเงินฝากประจำรายเดือนแบบปลอดภาษีที่มักให้ดอกเบี้ยสูงแต่ต้องฝากเงินเป็นจำนวนเงินเท่า ๆ กันทุกเดือนตามเงื่อนไขที่กำหนด (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ บัญชีเงินฝาก ใน www.1213.or.thและที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะออมด้วยวิธีไหน อย่าลืม “ออมก่อนใช้” นะครับ