ความรู้ทางการเงิน ตอน ภัยทางการเงิน – แก๊งคอลเซ็นเตอร์


11 ก.ค. 2560

ภัยทางการเงิน – แก๊งคอลเซ็นเตอร์

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา “กลุ่มมิจฉาชีพ” ที่ใช้วิธีสุ่มเบอร์โทรศัพท์เพื่อโทรไปหลอกลวงเหยื่อ หรือที่มักเรียกว่า “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” เริ่มกลับมาอาละวาดอีกครั้งโดยมีทั้งแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ให้ทำการอายัดบัตรเครดิตหรือบัญชีเงินฝาก เพื่อให้เหยื่อตกใจหลังจากนั้นก็จะหลอกลวงให้เหยื่อไปโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มให้แก่กลุ่มมิจฉาชีพ

หลายคนเคยได้ยินข่าว แก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติกันบ้างแล้วและบางคนอาจเคยตกเป็นเหยื่อ หรือเกือบจะตกเป็นเหยื่อมาแล้วด้วยก็ได้ แล้วเราจะระวังภัยจากพวกแก๊งต้มตุ่นเหล่านี้ได้อย่างไร...ตามไปดูกัน

มุกเด็ดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์

แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะทำงานอย่างเป็นขบวนการ เริ่มจากโทรศัพท์หาเหยื่อโดยใช้ระบบอัตโนมัติแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน หน่วยงานราชการ หรือองค์กรต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือ แล้วทำให้เหยื่อตกใจโดยแอบอ้างถึงการกระทำที่ผิดกฎหมายของเหยื่อ เช่น ความโลภ และความไม่รู้เท่าทัน มาหลอกลวง ในวันนี้...ขอยกตัวอย่างในกรณีต่าง ๆ เพื่อการเรียนรู้ สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้รู้เท่าทันกลโกงของกลุ่มมิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ มีดังนี้

บัญชีเงินฝากถูกอายัดหรือเป็นหนี้บัตรเครดิต

ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน หรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐ แล้วอ้างว่าเหยื่อถูกอายัดบัญชีเงินฝากหรือค้างชำระหนี้บัตรเดรดิต หรือถูกขโมยข้อมูลโดยจะบอกให้เหยื่อยกเลิกรายการ หรือล็อกรหัส หมายเลขที่เครื่องเอทีเอ็มตามคำบอกแต่จริง ๆ แล้วคือการโอนเงินให้แก่มิจฉาชีพ

พัวพันยาเสพติดหรือฟอกเงิน

อ้างว่าเหยื่อเป็นหนี้บัตรเครดิต แต่พอรู้ว่าเหยื่อมีเงินเยอะ ก็จะหลอกว่าเงินนั้นพัวพันคดียาเสพติดหรือฟอกเงิน ให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดมาตรวจสอบ

เงินคืนภาษี

อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรแจ้งเหยื่อว่าได้รับการลดภาษีเงินได้ และวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่จะทำเรื่องคืนเงิน จึงให้เหยื่อไปทำรายการเพื่อขอรับเงินคืนผ่านเครื่อง ATM ซึ่งความจริงคือโอนเงินให้มิจฉาชีพ

หมายศาลส่งไม่ถึง / ข้อมูลส่วนตัวหาย

อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ศาลอาญาโดยแจ้งว่ามีหมายศาลถึงเหยื่อแต่ส่งไปแล้วไม่มีคนรับ

จึงขอเลขที่บัตรประชาชนหรือข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบ หรืออาจอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินแจ้งเหยื่อว่าข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อหาย จึงขอให้เหยื่อให้ข้อมูลส่วนตัวอีกครั้งแล้วนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ทำธุรกรรมการเงินในนามของเหยื่อ

โชคดีรับรางวัลใหญ่

อ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทเปิดใหม่มีรายการจับสลากหรือมอบรางวัลที่มีมูลค่าสูงให้แก่ลูกค้า ผู้โชคดีแต่เหยื่อต้องจ่ายภาษีก่อนจึงจะส่งรางวัลไปให้

โชคร้ายโอนเงินผิด

อ้างว่าเป็นเจ้าทุกข์โอนเงินผิดเข้าบัญชีเงินฝากของเหยื่อ ขอให้เหยื่อโอนเงินคืนให้

แต่แท้จริงแล้วเงินที่โอนเข้าบัญชีของเหยื่อนั้นเป็นเงินที่มิจฉาชีพขอสินเชื่อในนามของเหยื่อ (เพราะเหยื่อถูกขโมยเอกสารส่วนตัว) หากเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินให้มิจฉาชีพ เหยื่อจะต้องรับผิดชอบภาระหนี้สินนั้น

รู้หรือไม่ว่า

 มิจฉาชีพจะใช้บัญชีเงินฝากของคนอื่นในการรับเงินโอนจากเหยื่อ เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 มิจฉาชีพจะว่าจ้างให้ผู้อื่นไปเปิดบัญชีเงินฝาก แล้วเก็บบัตร ATM และสมุดบัญชีของคนนั้นไว้เพื่อใช้ถอนเงินเมื่อเหยื่อโอนเงินมาให้ ซึ่งการรับจ้างเปิดบัญชีแทนผู้อื่นมีความผิดตาม กฎหมาย ดังนั้น หากไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการต้มตุ๋นต้องไม่รับจ้างเปิดบัญชีแทนใคร นอกจากการหลอกว่าจ้างเปิดบัญชีแล้วมิจฉาชีพอาจหลอกใช้บัญชีเงินฝากของเหยื่อเป็นบัญชีผ่าน เช่น หลอกว่าเป็นบริษัทข้ามชาติซึ่งไม่มีบัญชีเงินฝากในประเทศไทย และเพื่อความสะดวกของลูกค้า จึงขอใช้บัญชีเงินฝากของเหยื่อในการรับเงินโดยจ่ายค่าจ้างให้จำนวนหนึ่ง

0001.jpg0002.jpg0003.jpg

 

คาถากันภัย...แก๊งคอลเซ็นเตอร์

   คิดทบทวน ว่าเรื่องราวที่ได้ยินมามีความเป็นไปได้ มากน้อยแค่ไหน เคยทำธุรกรรมกับหน่วยงานที่ถูกอ้างถึงหรือไม่ หรือเคยเข้าร่วมชิงรางวัลกับองค์กรไหนหรือเปล่า

   ไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย ไม่ให้ข้อมูล ทั้งข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขที่บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด และข้อมูลทาง การเงิน เช่น เลขบัญชี รหัสกดเงิน

   ไม่ทำรายการที่เครื่อง ATM ตามคำบอก แม้จะได้รับการบอกกล่าวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือสถาบันการเงิน เพราะหน่วยงานของรัฐและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนตัว ของประชาชนหรือลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์

   ตรวจสอบข้อมูลก่อนโอนเงิน สอบถาม สถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่ถูกอ้างถึงโดยตรง โดยติดต่อฝ่ายบริการลูกค้า (Call Center) หรือติดต่อที่สาขาของสถาบันการเงินนั้น ๆ

   ไม่โอนเงินคืนเอง หากมีคนโอนเงินผิดเข้าบัญชี ควรตรวจสอบโดยตรงกับสถาบันการเงินถึงที่มา ของเงินดังกล่าว หากเป็นเงินที่โอนผิดจริง จะต้องให้สถาบันการเงินเป็นผู้ดำเนินการโอนเงินคืนเท่านั้น

   ข้อมูลอ้างอิง : www.1213.or.th : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213

: หนังสือรู้รอบเรื่องการเงิน รู้รอบระวังภัยhttps://www.1213.or.th/Documents/booklet/FCCBooklet05.pdf

0004.jpg