หาดใหญ่โพล ชี้ปชช.มองการปฏิรูปตำรวจภายใต้ยุคคสช.ยังเหมือนเดิม


20 ก.ค. 2560

หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจภายใต้ยุค คสช. กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้เป็นประชาชนในจังหวัดสงขลา จำนวน 400 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 6-13 กรกฎาคม 2560  ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้

รองศาสตราจารย์ทัศนีย์ ประธาน  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล  พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้คะแนนการปฏิบัติงานของตำรวจในปัจจุบัน มีคะแนนเฉลี่ย 4.01 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน)  ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานที่อยู่ในระดับต่ำ ประชาชนร้อยละ 62.71 เห็นด้วยกับการปฏิรูปตำรวจ มีเพียงร้อยละ 37.29 ที่ไม่เห็นด้วย 

ส่วนการปฏิบัติงานที่ต้องการให้มีการปฏิรูปเป็นอันดับแรก ได้แก่ งานป้องกันและปรามปรามอาชญกรรม (ร้อยละ 45.10) รองลงมา เป็นงานจราจร และงานสืบสวน คิดเป็นร้อยละ 29.60 และ 14.80 ตามลำดับ  นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 72.50 ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดแนวทางการปรับขึ้นเงินเดือนตำรวจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยให้เหตุผลว่า การปฏิบัติงานยังไม่มีประสิทธิภาพ และร้อยละ 74.40 คิดว่าการยกระดับหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเป็นผู้กำกับจะไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 

ส่วนแนวคิดการปฎิรูป พบว่า ประชาชนเห็นด้วยในระดับมากกับประเด็นการปรับปรุงสถานีตำรวจเน้นการดำเนินการเชิงป้องกันอาชญากรรมและแบ่งขนาดสถานีตำรวจใหม่ให้จัดโรงพักเป็นแบบ “one-stop service”  มีคะแนนเฉลี่ย 3.57 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน) รองลงมา เป็นประเด็นด้านวิชาการให้พนักงานสอบสวน มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.52 คะแนน  

ส่วนประเด็นที่ประชาชนเห็นด้วยในระดับปานกลาง เรียงลำดับค่าเฉลี่ยความคิดเห็น ได้แก่ ประเด็นฐานเงินเดือนของตำรวจควรจะเทียบเท่าบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.43 คะแนน ประเด็นการตั้งหน่วยงานสอบสวนส่วนกลางและให้มีความเป็นอิสระ มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.40 คะแนน ประเด็นจัดให้มีหน่วยงานอิสระในการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากการปฏิบัติงานของตำรวจ มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.28 คะแนน  

ประเด็นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายตำรวจ ทั้งในระดับชาติ ระดับภาค  ระดับจังหวัดและระดับสถานีตำรวจภูธร มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.27 คะแนน  ประเด็นให้ตำรวจขึ้นตรงกับการบริหารงานระดับจังหวัด มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.25 คะแนน  ประเด็นการโอนย้ายภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักไปให้หน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจป่าไม้ ตำรวจน้ำ มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.22 คะแนน  ประเด็นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนแต่งตั้งตำรวจชั้นประทวนถึงผู้กำกับ มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.15 คะแนน  และประเด็นการกระจายอำนาจไปสู่หน่วยงานระดับรอง มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.08 คะแนน ตามลำดับ 

45.jpg

โดยสรุป ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.10  คาดผลลัพธ์จากการปฏิรูปตำรวจผลการปฏิบัติงานของตำรวจยังคงเหมือนเดิม รวมทั้งเห็นว่าภายหลังการปฏิรูป ประชาชนจะได้รับประโยชน์เพียงร้อยละ 50.30 เท่านั้น