ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนกรกฎาคม 2560


1 ส.ค. 2560

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนกรกฎาคม 2560

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ในเดือนกรกฎาคม 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการวัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงของความสุขโดยรวมของประชาชนในภาคใต้  เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 53.20 เพศชาย ร้อยละ 46.80 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 32.80  และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 36.30

001.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง  ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนกรกฎาคม 2560 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ด้านภาวการณ์ทางสังคมปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน

ดัชนีความเชื่อมั่นด้านภาวการณ์ทางสังคม ในเดือนกรกฎาคมเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน พบว่า  ความสุขในการดำเนินชีวิต  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหายาเสพติด และเสถียรภาพทางการเมือง มีความเชื่อมั่นลดลง เนื่องจากคดีฆาตกรรมในหลายพื้นที่ของภาคใต้ ได้แก่ จ.กระบี่   จ.ตรัง และ จ.ปัตตานี ทำให้ประชาชนกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งของคดีมาจากปัญหายาเสพติด ส่วนเสถียรภาพทางการเมือง มีความเชื่อมั่นลดลง เนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ที่ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนธุรกิจ และภาวะราคาสินค้าเกษตรหลายอย่างได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และลำไย มีความผันผวนและมีแนวโน้มที่ราคาจะลดลง ดังนั้น รัฐบาลจึงควรออกมาตรการดูแล และแก้ไขราคาสินค้าเกษตรดังกล่าวในระยะยาวด้วย ส่วนฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) และความมั่นคงในอาชีพ มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ  และการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบลดน้อยลง และมีการจับกุมผู้ต้องหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าความสุขในการดำเนินชีวิต และฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 25.30 และ 24.40 ตามลำดับ นอกจากนี้การแก้ปัญหายาเสพติด และเสถียรภาพทางการเมืองดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 37.40 และ 41.60 และปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อความสุขในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 33.80 รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 29.70