ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนกรกฎาคม 2560


1 ส.ค. 2560

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนกรกฎาคม 2560

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2560 โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 53.20 เพศชาย ร้อยละ 46.80 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 32.80  และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 36.30    

002.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนกรกฎาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน ส่วนหนึ่งมาจากผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น และรายจ่ายจากการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เนื่องมาจากผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยปัจจัยบวกมาจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน และมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราของภาครัฐและเอกชน (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 31 กรกฎาคม 2560) และส่วนหนึ่งมาจากรายจ่ายจากการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาววันอาสาฬหบูชา ทำให้ประชาชนมีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคด้านรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือนได้ปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องมาจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความผันผวน ค่าครองชีพ สินค้าอุปโภค บริโภค และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ประชาชนจึงชะลอการจับจ่ายใช้สอยดังกล่าว

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 25.20 และ 30.50 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 35.60 และ 32.50 ตามลำดับ โดยคาดว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสัญญาณที่ดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ยางพารา และปาล์มน้ำมันและรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวต่าง ๆ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 28.20 รองลงมา คือ ราคาสินค้า และหนี้สินครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 25.60 และ12.40 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้า และ หนี้สินครัวเรือน ตามลำดับ