เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนมกราคม 2559


4 ก.พ. 2559

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เผยผลดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2559 โดยเก็บแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่ละเดือนเก็บแบบสอบถามกับประชาชน จำนวน 420 คน โดยการเก็บแบบสอบถามเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2558 เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบ  ในส่วนของข้อมูลเดือนมกราคม 2559 พบว่า เป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 54.8 เพศหญิง ร้อยละ 45.2 และส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 25 – 34 ปี คิดเป็นร้อยละ 43 และระดับการศึกษาปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 38.4  

01.jpg

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนธันวาคม 2558 เปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 พบว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้บริโภคยังมองภาวะเศรษฐกิจโดยรวมลดลงเล็กน้อย ในขณะที่การใช้จ่ายโดยรวมทั้งหมดของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากเดือนธันวาคมมีช่วงวันหยุดยาวประกอบกับช่วงเทศกาลปีใหม่ มีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อฉลองปีใหม่ รวมทั้งรายจ่ายการท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น

อีกทั้งรัฐบาลได้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ  “ช็อปช่วยชาติ” สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ จึงส่งผลให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายที่สูงในเดือนธันวาคม  นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำเพิ่มขึ้น โดยมองว่านโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลทำให้เพิ่มโอกาสในการหางานทำได้ง่ายขึ้น

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนมกราคม 2559 เปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2558 พบว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม และการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยรวมลดลงกว่าเดือนธันวาคม 2558 แต่ยังสูงกว่าเดือนพฤศจิกายน 2558 ในส่วนของภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงาน พบว่า ในเดือนมกราคม 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการรับซื้อยางพารา 1,000,000 ตัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ในราคากิโลกรัมละ 45 บาท ซึ่งเริ่มรับซื้อตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 (การยางแห่งประเทศไทย, 2559)

จึงส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น ที่ระดับราคา 38 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับราคาน้ำยางสด และยางแผ่นดิบที่ระดับราคา 36.90 บาทต่อกิโลกรัม (ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่, 2559) และอีกปัจจัยที่สำคัญ คือ รัฐบาลมีโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยให้เงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 1,500 บาทต่อไร่ ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางเริ่มได้รับเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในช่วงเดือนมกราคม ที่ผ่านมา จึงส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงาน เดือนมกราคมปรับตัวเพิ่มขึ้น  

อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าใน 3 เดือนข้างหน้า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานยังคงเท่าเดิม ร้อยละ 59.3 และ 57.3 ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 27.6 และ 31.7  ที่คาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงาน ใน 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มสูงขึ้น เป็นเพราะประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามาตรการที่รัฐบาลออกมาเพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางจะสามารถช่วยผลักดันระดับราคายางให้สูงขึ้น และเกษตรกรชาวสวนยางก็ได้รับประโยชน์จริง แต่เป็นเพียงมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบปัญหาราคายางตกต่ำในระยะสั้น ซึ่งในระยะยาวก็ยังมีความไม่แน่นอน

ปัจจัยที่ประชนชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 38.2 รองลงมา คือ ราคาสินค้า การว่างงาน และค่าสาธารณูปโภค คิดเป็นร้อยละ 32.2, 31.9 และ 31.4 ตามลำดับ  ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชนชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรกคือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ เศรษฐกิจทั่วไป ค่าสาธารณูปโภค และการว่างงาน ตามลำดับ