ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนพฤศจิกายน 2560


6 ธ.ค. 2560

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนพฤศจิกายน 2560

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการวัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงของความสุขโดยรวมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 55.10 เพศชาย ร้อยละ 44.90 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 31.50 และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 33.50

01.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนพฤศจิกายน 2560 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ด้านภาวการณ์ทางสังคมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นด้านภาวการณ์ทางสังคม ในเดือนพฤศจิกายนเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม พบว่า  ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ความมั่นคงในอาชีพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และเสถียรภาพทางการเมือง มีความเชื่อมั่นลดลง เนื่องจากความกังวลจากสภาวะฝนตกหนักทั่วทั้งภาคใต้ ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขังในหลายจังหวัด ทำให้รายได้ลดลง และราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมันก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลง นอกจากนั้นฝนตกหนักและน้ำท่วมขังติดต่อกันหลายวันยังทำให้ประชาชนกังวลถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหายาเสพติด และการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาครัฐสามารถจับกุมและดำเนินคดียาเสพติดได้เพิ่มมากขึ้น และเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนลดน้อยลง

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าความสุขในการดำเนินชีวิต และฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 34.50 และ 26.20 ตามลำดับ นอกจากนี้การแก้ปัญหายาเสพติด และเสถียรภาพทางการเมืองดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 25.30 และ 35.40 และปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อความสุขในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันมากที่สุด คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 38.40 รองลงมา คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 27.70