ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนธันวาคม 2560


3 ม.ค. 2561

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนธันวาคม 2560

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านสภาวการณ์ทางสังคมในเดือนธันวาคม 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงของความสุขโดยรวมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 52.90  เพศชาย ร้อยละ 47.10 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 33.80 และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 31.20

004.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนธันวาคม 2560 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ด้านภาวการณ์ทางสังคมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน

ดัชนีความเชื่อมั่นด้านภาวการณ์ทางสังคม ในเดือนธันวาคมเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน พบว่า  ความสุขในการดำเนินชีวิต ความมั่นคงในอาชีพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหา ยาเสพติด และการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเดือนธันวาคมมีวันหยุดยาวหลายวันรวมทั้งวันหยุดยาวปีใหม่ ทำให้ประชาชนได้เดินทางท่องเที่ยว และพักผ่อนกับครอบครัว รวมไปถึงบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ มีการเลี้ยงฉลองปีใหม่และให้โบนัสสิ้นปีแก่พนักงาน

อย่างไรก็ตามฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) และเสถียรภาพทางการเมือง มีความเชื่อมั่นลดลง เนื่องจากรายได้ของประชาชนจากภาคเกษตรลดลงจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและมีฝนตกชุกจนถึงน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของภาคใต้  ในขณะที่เสถียรภาพทางการเมืองมีความเชื่อมั่นลดลง อาจเนื่องมาจากข่าวการตรวจสอบทรัพย์สินของรัฐมนตรีและการปรับคณะรัฐมนตรีล่าสุด ครั้งที่ 5 ด้วย

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าความสุขในการดำเนินชีวิต และฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 35.70 และ 28.30 ตามลำดับ นอกจากนี้การแก้ปัญหายาเสพติด และเสถียรภาพทางการเมืองดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.70 และ 37.80 และปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อความสุขในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันมากที่สุด คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 33.10 รองลงมา คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 24.50