แพทย์แผนไทย ม.อ.พัฒนาสมุนไพร เป็นเครือข่ายระดับสากลพร้อมสู่ตลาดอาเซียน


25 ก.พ. 2559

คณะการแพทย์แผนไทยและสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาแหล่งปลูกพืช ผักสมุนไพร ปลอดสารพิษ ในจังหวัดสงขลา พัฒนาสู่การเป็นผลิตภัณฑ์สปา เครื่องสำอางและยารักษาโรค เพื่อพัฒนาให้ได้มาตรฐานระดับสากลพร้อมสู่ตลาดอาเซียนและตะวันออกกลาง เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

page.jpg

ดร.ชลทิต สนธิเมือง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะการแพทย์แผนไทย เปิดเผยว่าปัจจุบันพบว่า ปัญหาสำคัญของผลิตภัณฑ์สปาไทยยังขาดการเชื่อมโยงแบบครบวงจร ตั้งแต่การเพาะปลูกสมุนไพร การพัฒนางานวิจัย และด้านการตลาด ดังนั้น คณะการแพทย์แผนไทยและสถาบันฮาลาล จึงจัดกิจกรรมเพื่อการพัฒนาแบบครบวงจรโดยการบูรณาการในการส่งเสริมการปลูกสมุนไพรให้ได้มาตรฐานการผลิตยาและเครื่องสำอาง การแปรรูปสมุนไพร พืชสมุนไพรปลอดสารพิษ เป็นเครือข่ายและการให้บริการสปาฮาลาลต้นแบบเพื่อพัฒนาให้จังหวดสงขลาเป็นผู้นำทางด้านการบริการเพื่อสุขภาพและการท่องเที่ยว ตามแผนยุทธศาสตร์ของสำนักบริหารยุทธศาสตร์ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน กระทรวงมหาดไทย ซึ่ง นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธาน มีการสร้างเครือข่ายแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน  ผู้ประกอบการร้านขายยาสมุนไพร และสาธารณสุขอำเภอในจังหวัดสงขลามีการจัดอบรมให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์อย่างต่อเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรเจ้าของรางวัลแมกไซไซ และหมอพื้นบ้านที่เป็นที่ยอมรับของชุมชน

chonlatit.jpg

ดร.ชลทิต สนธิเมือง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะการแพทย์แผนไทย

ทั้งนี้เพื่อให้การแพทย์พื้นบ้านภาคใต้ดำรงอยู่และมีขีดความสามารถสูงในการให้บริการสปาฮาลาล รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพรให้ได้มาตรฐานในการผลิตผลิตภัณฑ์สปาฮาลาล  เช่น น้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้ในการบำบัดดูแลสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์สำหรับชำระล้างร่ายกาย และการนวดลังกาสุกะซึ่งเป็นองค์ความรู้แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเฉพาะถิ่นของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

รวมทั้งวิธีการปลูกสมุนไพรที่เป็นที่ต้องการของตลาด ภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้าน วิธีการนำเทคโนโลยีไมโครเวฟสำหรับอบสมุนไพรให้แห้ง เช่น ไพล หรือการพัฒนาต่อยอดไปสู่การสกัดน้ำมันหอมระเหยจากไพล และมีโครงการนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอีกด้วย

ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ พฤศจิกายน 2558 –พฤษภาคม 2559 ประกอบด้วย 1. กิจกรรมอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกสมุนไพร  2.สำรวจพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพร 3. เก็บตัวอย่างดินตรวจวิเคราะห์       4 อบรมให้ความรู้กลุ่มเกษตรกร 5.ลงทะเบียนเกษตรกรสาหรับจัดทำข้อตกลงในการปลูกสมุนไพร 6. ปลูกสมุนไพร 7. ตรวจติดตามการปลูกสมุนไพร ครั้งที่ 1 และ8.ตรวจติดตามการปลูกสมุนไพร ครั้งที่ 2 ตามลำดับ

1.jpg

นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายสนับสนุนพืชสมุนไพร ในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้รับความร่วมมือจากคณะการแพทย์แผนไทย เป็นแกนนำพื้นที่เป้าหมายประกอบด้วย เขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ ตำบล คอหงส์ อ.หาดใหญ่ ตำบล เขาพระ อำเภอ รัตภูมิ ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ ตำบลโคกม่วง อำเภอ คลองหอยโข่ง ตำบล สะเดา อำเภอสะเดา ตำบลบางเรียง อำเภอบางกล่ำอำเภอระโนด ตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง  ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน ตำบลยานซื่อ อำเภอควนโดน โดยเริ่มต้นจัดอบรมที่ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม  อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ นักวิจัยในภาคใต้ได้ร่วมมือกันทำงานเป็นเครือข่ายนักวิจัย และจับมือกันส่งเสริมและพัฒนาสมุนไพรไทย ประกอบด้วย ดร. ชลทิต สนธิเมือง คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ.ดร. สุชาดา จันทร์พรหมมา สาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ดร.ณวงศ์ บุนนาค สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ  และดร.ยงยุทธ์ เทพรัตน์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้พัฒนาการควบคุมมาตรฐานวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพเช่น ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเพาะปลูกและช่วงเวลาเหมาะสมในการเก็บเกี่ยว โดยผลงานวิจัยนี้จะนำไปสู่การผลิตวัตถุดิบสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพในการรักษามีความปลอดภัยในการใช้สมุนไพรมากขึ้นและมีการนำเทคโนโลยีชีวภาพและพันธุกรรม(การเพาะเลี้ยงแคลลัส)มาช่วยในการผลิตสารสำคัญในสมุนไพรให้ได้ในปริมาณสูง และใช้เวลาที่สั้นโดย ดร.ชุติมา แก้วพิบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

สำหรับกระบวนการแปรรูปสมุนไพร ผศ.ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ คณบดีและอาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้พัฒนาเทคโนโลยีไมโครเวฟเชิงฟิสิกส์และวิศวกรรมมาใช้ในการอบแห้งพืชสมุนไพรทำให้ได้สมุนไพรที่มีคุณภาพสูงและเพิ่มมูลค่าด้านการตลาดลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศทำให้การแปรรูปสมุนไพรมีต้นทุนต่ำ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการตลาดให้แก่ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ของไทยได้เป็นอย่างดี และได้เผยแพร่ความรู้แก่นักวิชาการและผู้สนใจ

102532.jpg2.pnggypsy-1.gif84655.jpg4.jpg