ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนเมษายน 2561


2 พ.ค. 2561

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนเมษายน 2561

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคมในเดือนเมษายน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงของความสุขโดยรวมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 66.30 เพศชาย ร้อยละ 33.70 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 35-44 ปี คิดเป็นร้อยละ 32.10 และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 31.70  

01.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนเมษายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ด้านภาวการณ์ทางสังคมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นด้านภาวการณ์ทางสังคม พบว่า ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ความมั่นคงในอาชีพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหายาเสพติด เสถียรภาพทางการเมือง และการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากประชาชนมีความสุขมากขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยว ทำบุญ พักผ่อน และเดินทางกลับภูมิลำเนาพบปะญาติพี่น้องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกันถึง 5 วัน และปัจจัยบวกจากการจับกุมยาเสพติดได้ล็อตใหญ่ ๆ หลายครั้ง รวมถึงจำนวนของเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ลดลงจากเดือนมีนาคม

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าความสุขในการดำเนินชีวิต และฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 33.10  และ 34.20 ตามลำดับ นอกจากนี้การแก้ปัญหายาเสพติด และเสถียรภาพทางการเมืองดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 37.30 และ 35.60 และปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อความสุขในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 35.70 รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 21.70