ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนเมษายน 2561


2 พ.ค. 2561

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนเมษายน 2561

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ ในเดือนเมษายน โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจาก ประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 66.30 เพศชาย ร้อยละ 33.70 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 35-44 ปี คิดเป็นร้อยละ 32.10 และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 31.70  

02.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนเมษายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน โอกาสในการหางานทำ/ได้งานใหม่ รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว โดยปัจจัยบวกมาจากเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันหยุดยาวติดต่อกัน 5 วัน ทำให้ประชาชนวางแผนใช้จ่ายทั้งการเดินทางท่องเที่ยว ทำบุญ และซื้อสินค้าต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น  รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภาคใต้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จำนวนมาก โดยยอดจองห้องพักโรงแรมทั่วภาคใต้สูงถึง 90 %  และมีเงินสะพัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 35.30 และ 35.40 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.20 และ 43.20 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 35.30 รองลงมา คือ ราคาสินค้า และราคาพืชผลทางการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 26.20 และ 11.80 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้า และราคาพืชผลทางการเกษตร ตามลำดับ