ผู้หญิงกับการฝ่าผ่านสร้างสันติภาพชายแดนใต้ (ผลวิจัยเนื่องในวันสตรีสากล)


8 มี.ค. 2559

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เผยผลวิจัยผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2559 พบบทบาทผู้หญิงกับการขับเคลื่อนเชิงสร้างสรรค์ผ่านงานพัฒนาชุมชนจากจุดเล็กๆในชุมชน แต่หนุนเนื่องสู่การสร้างสันติภาพในนิยามใหม่ๆได้อย่างลงตัว   

93.jpg

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องผู้หญิงกับการพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงของชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผย ผลการวิจัยเนื่องในสตรีสากล 8 มีนาคม 2559 ว่าจากการดำเนินการวิจัยผู้หญิงกับการพัฒนาเพื่อสร้างความมั่งคงของชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทผู้หญิงกับการพัฒนา และแนวทางยกระดับบทบาทผู้หญิงในกระบวนการพัฒนาที่เอื้อการพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงของชุมชนและด้านอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับชุมชน เครือข่าย และนโยบายที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า

การศึกษาผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนใหญ่ถูกเขียน/ พูด/ นำเสนอในแง่ภาพลักษณ์ของความน่าเห็นใจ/ น่าสงสาร ในฐานะผู้สูญเสียจากความรุนแรง และถูกทำให้หายไปในกระบวนการพัฒนา แต่เรื่องราวของผู้หญิงใน “เครือข่ายชุมชนศรัทธา” ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “ใช้หลักศาสนา สร้างศรัทธา พัฒนาจังหวัดชายแดนใต้” เพื่อสร้างชุมชนและการพัฒนาชุมชนที่เรียกว่า “ความเป็นชุมชนศรัทธา” ครอบคลุมมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง และจิตวิญญาณ ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทอย่างสร้างสรรค์อันมีผลเชื่อมโยงถึงการสร้างความมั่นคง การสร้างสันติภาพ และการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานพัฒนาชุมชนในระดับฐานล่าง เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์และสวัสดิการ เศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง กลุ่มอาชีพการจัดการสิ่งแวดล้อม ฯลฯ กระทั่งสามารถเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมได้มากขึ้น

บทบาทการทำงานพัฒนาของผู้หญิงในระยะแรกๆของความรุนแรงรอบใหม่ นับแต่ ปีพ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ยังไม่เปิดกว้างมากนัก ดังนั้นการก้าวออกมาจากครอบครัว สู่กิจกรรมการพัฒนาเชิงสาธารณะมักเริ่มต้นจากกิจกรรมเล็ก ๆ ที่ผู้ชายส่วนใหญ่มองข้าม หรือมองว่าไม่ใช่งานของผู้ชาย โดยใช้กระบวนการพื้นฐานคือการสร้างความสัมพันธ์พื้นฐานผ่านการพูดคุย สนทนาในชีวิตประจำวัน การสร้างความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน การริเริ่มกิจกรรมใหม่ ๆ ใกล้ ๆ ตัว จากนั้นจึงยกระดับการประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่สามารถถ่ายเท/ จัดสรรทรัพยากรให้ชุมชนได้ ซึ่งในท้ายที่สุดทำให้ผู้นำชายและชาวชุมชนให้การยอมรับ อันส่งผลต่อการปรับความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ในระดับชุมชนและภายนอก ที่สำคัญคือปัญหาและความรุนแรงในชุมชนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังที่แกนนำผู้หญิงท่านหนึ่งกล่าวอย่างมั่นใจว่า

กิจกรรมใดก็แล้วแต่หากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้หญิงก็ไปไม่รอด กระแสเรียกร้องผู้หญิงมีมากขึ้นในชุมชน ที่สำคัญเป็นการเรียกร้องจากผู้ชายที่ครั้งหนึ่งมองว่าผู้หญิงไม่มีพลังไม่มีศักยภาพ แต่วันนี้สันติภาพอยู่ในกำมือผู้หญิง”

อย่างไรก็ดีควรส่งเสริม/ สนับสนุนผู้หญิงให้มากขึ้น โดยเฉพาะทักษะที่จำเป็นเกี่ยวกับการจัดระบบชุมชน ระบบการจัดการและการประสานงาน  รวมทั้งการสร้างความตระหนักในเรื่องบทบาทผู้หญิง หรือบทบาทหญิงชายให้กับชาวชุมชนและผู้นำกลุ่มต่าง ๆ

ในเชิงนโยบายต้องเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับผู้หญิง สิทธิ การยอมรับ ความเสมอภาคสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมที่ผู้หญิงสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพัฒนาศักยภาพเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ความมั่นคงทางอาหาร อาชีพ การศึกษา และสร้างความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของผู้หญิงในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และสร้างโอกาสการเรียนรู้และการศึกษาที่สามารถทำให้ผู้หญิงเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ควรจัดให้มีกองทุนพัฒนาที่เอื้อให้ผู้หญิงกลุ่มต่างๆสามารถเข้าถึง ใช้ประโยชน์ และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการมากขึ้น ซึ่งรูปแบบที่เป็นไปได้อาจอยู่ในรูป “คณะทำงานอิสระ” มีหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สนับสนุน