ผลสำรวจบุหรี่เถื่อนทะลัก 7 จังหวัดภาคใต้ - อ่วมพิษภาษี ฉุดรายได้ภาษีอบจ.วูบร้อยละ 41


12 พ.ค. 2561

ผลสำรวจบุหรี่เถื่อนทะลัก 7 จังหวัดภาคใต้ - อ่วมพิษภาษี ฉุดรายได้ภาษีอบจ.วูบร้อยละ 41

9 พ.ค. 2561 – สมาคมการค้ายาสูบไทยร่วมกับนิด้าโพลเผยผลสำรวจสถานการณ์ปัญหาบุหรี่เถื่อนภาคใต้ตอนล่าง 7 จังหวัดทวีความรุนแรงขึ้นหลังมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตและการขึ้นภาษีบุหรี่รอบล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา ส่งผลรายได้ภาษียาสูบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาต่ำกว่าเดิมถึงร้อยละ 41 วอนรัฐชะลอการขึ้นภาษี แนะเพิ่มบทลงโทษและการปราบปรามอย่างเข้มข้น

Infographic Final.jpg

ที่โรงแรมเซ็นทาราหาดใหญ่ จ. สงขลา นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย เปิดเผยผลสำรวจความเห็นร้านค้าปลีกใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง (พัทลุง สตูล ตรัง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) เกี่ยวกับสถานการณ์บุหรี่เถื่อนในพื้นที่ ร้อยละ 50 เห็นว่าในจังหวัดของตนมีการค้าบุหรี่เถื่อนกันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้จังหวัดที่มีปัญหาบุหรี่เถื่อนรุนแรงมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สงขลา สตูล นราธิวาส โดยร้านค้ามองว่าปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้ปัญหาบุหรี่เถื่อนรุนแรงขึ้นได้แก่ ได้แก่ ภาษีและราคาบุหรี่ถูกกฎหมายที่สูงขึ้น (ร้อยละ 37) สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว (ร้อยละ 27) และแรงจูงใจการค้าบุหรี่เถื่อนที่มีค่าตอบแทนสูง (ร้อยละ 18)

“การที่รัฐขึ้นภาษีบุหรี่อย่างต่อเนื่องทุกปีในช่วงที่ผ่านมา จนตอนนี้บุหรี่ถูกกฎหมายต้องเสียภาษีทั้งสิ้น 8 ประเภท ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย ภาษี อบจ. เงินบำรุงกองทุน สสส. กองทุนกีฬา กองทุนไทยพีบีเอส กองทุนคนชรา รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บุหรี่เถื่อนแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 เมื่อมีการปรับโครงสร้างพร้อมกับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่และเรียกเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยจากสินค้าบุหรี่ซึ่งไม่เคยต้องเสียมาก่อนหน้านั้น ทำให้ราคาบุหรี่ถูกกฎหมายพุ่งขึ้นจากเดิมราคาต่ำสุดซองละ 40 บาท ตอนนี้เป็นซองละ 60 บาท เทียบกับบุหรี่เถื่อนภาคใต้ราคาถูกที่สุดเพียงซองละ 10 บาท นี่เองที่เป็นแรงจูงใจทั้งมิจฉาชีพและผู้บริโภค” นางวราภรณ์กล่าว   

นางวราภรณ์ นะมาตร์.JPG

นางวราภรณ์ นะมาตร์         

จากข้อมูลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา พบว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ภาษีอบจ.จากการค้ายาสูบในพื้นที่เก็บได้ทั้งสิ้น 7.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 41 จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2560 ที่เก็บได้ 12.2 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงปริมาณการซื้อขายบุหรี่ถูกกฎหมายลดลงร้อยละ 41 เช่นกัน เนื่องจากภาษี อบจ. เก็บในอัตราคงที่ซองละ 1.86 บาท ทั้งนี้

นางวราภรณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือในเดือนตุลาคม 2562 ก็จะมีการขึ้นภาษีบุหรี่อีกครั้งที่จะทำให้บุหรี่ทั้งหมดต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 40 ของราคาขายปลีก (จากปัจจุบันแบ่งเป็น 2 อัตราคือ ร้อยละ 20 สำหรับบุหรี่ราคาไม่เกิน 60 บาท และร้อยละ 40 สำหรับบุหรี่ราคาแพงกว่า 60 บาท) บวกกับภาษีตามปริมาณซองละ 24 บาท ซึ่งคาดว่าจะทำให้บุหรี่ถูกกฎหมายราคาพุ่งขึ้นอีกระลอก จากตอนนี้ราคาถูกที่สุดซองละ 60 บาท ก็อาจกลายเป็นซองละ 70-80 บาทได้ในปี 2562 ซึ่งอาจทำให้บุหรี่เถื่อนทะลักเข้าไทยมากขึ้นอีก จึงอยากวิงวอนรัฐบาลให้ชะลอการขึ้นภาษีบุหรี่ออกไปก่อน เพื่อมิให้เป็นการซ้ำเติมร้านค้าและมิให้เป็นการเพิ่มแรงจูงใจของมิจฉาชีพค้าบุหรี่เถื่อน”.

สำหรับความเห็นต่อการดำเนินการแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนของรัฐนั้น ร้านค้าที่ทำการสำรวจให้คะแนนอยู่ในระดับปานกลาง โดยการดำเนินการที่ได้คะแนนดี 3 ลำดับแรก ได้แก่ การเพิ่มบทลงโทษตามกฎหมาย การปราบปรามจับกุมอย่างเข้มข้น และการสืบสวนดำเนินคดีอย่างจริงจัง ซึ่งการดำเนินการทั้งสามนี้ร้านค้ามองว่าเป็นมาตรการที่น่าจะช่วยแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนได้มากที่สุดด้วย

การสำรวจความคิดเห็นของร้านค้าในเขตพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างต่อสถานการณ์ปัญหาบุหรี่เถื่อนดำเนินการโดยสมาคมฯ ร่วมกับศูนย์สำรวจความเห็น ‘นิด้าโพล’ ระหว่างวันที่ 12-30 มีนาคม 2561 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,157 ร้านค้าปลีกในจังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส