ปัญหาการเงิน แก้ได้ ด้วย ผู้วิเศษของปลาดาว สาระดีๆจาก ธปท.ภาคใต้


25 พ.ค. 2561

ปัญหาการเงิน แก้ได้ ด้วย ผู้วิเศษของปลาดาว สาระดีๆจาก ธปท.ภาคใต้

ด้วยบทบาทผู้เขียนภายใต้องค์กร [ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)] คือ การปรารถนาให้ประชาชนรู้เรื่องการเงินอย่างทั่วถึง แต่หลายครั้งที่ออกไปทำหน้าที่ตามบทบาทดังกล่าวมักจะได้ยินเสียงสะท้อนจากประชาชนว่า “ปัญหาการเงินมีอยู่มากมาย ช่วยไปเดี๋ยวก็กลับมาอีก แล้วจะทำไปทำไม” ผู้เขียนขอทิ้งประเด็นเสียงสะท้อนไว้อย่างนี้ก่อน แล้วเชิญชวนผู้อ่านคิดต่อว่า...

ปัจจุบันเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม มีการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยที่เหนือการควบคุม ก็จริง แต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงนั้นกลับมีหลัก“สัจธรรม” อย่างหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ การเกิด แก่ เจ็บ และตาย ซึ่งตลอดช่วงสัจธรรมนี้ ปัจจัย 4 หรือมากกว่า ที่จำเป็น ก็ต้องใช้ “เงิน”เพื่อการจัดหาเป็นสำคัญ ดังนั้น “การมีวินัยทางการเงินที่ดี” จึงเป็นเรื่องสำคัญตลอดช่วงสัจธรรมเช่นกัน

แต่ข่าวสารทุกวันนี้ชี้ว่า น้องๆ ที่เค้าเรียกว่า “Gen Y” มีแนวโน้มจะมีปัญหาการเงินเร็วและมากขึ้น จะด้วยเหตุไม่เข้าใจหรือพฤติกรรมส่วนตัวที่นำไปสู่การไม่ตระหนักคิดเรื่องวินัยทางการเงินที่ถูกต้องก็ตาม แต่นี้คือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมคน “Gen Y” และอาจขยายวงกว้างสร้างความเปราะบางให้กับสังคมในมิติต่างๆ อย่างที่ทุกภาคส่วนเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ และคือโจทย์การบ้านที่เรา (ธปท.สำนักงานภาคใต้) กับสถานศึกษาที่น้องๆ Gen Y ศึกษาอยู่ร่วมกันค้นหาคำตอบเพื่อยับยั้งปัญหาจากหลักการเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral economics) ด้วยโครงการศึกษาทดลองการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy Lab)

ค่าสถิติจากโครงการฯจะออกมาอย่างไรก็ตาม แต่ความจริงที่ปรากฏให้เห็นได้ทันที อุปมาได้เช่น “นิทานปลาดาว” ที่เล่ากันว่ามีปลาดาวจำนวนมากมาติดตื้นหาดทรายชายทะเล ชายสูงวัยกำลังช่วยชีวิตด้วยการจับปล่อยลงทะเลทีละตัวๆ แต่วิธีการดังกล่าวได้รับการทักท้วงจากคนที่พบเห็นว่าทำไปก็สูญเปล่า และเค้าเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะช่วยได้สักกี่ตัว เพียงแต่มีความเชื่อว่า ตัวที่ปล่อยลงทะเลแล้วจะรอดชีวิตและไม่หวนกลับมาติดตื้นอีก ซึ่งเสมือนน้องๆที่เข้าร่วมโครงการนี้จะไม่หวนกลับมาติดกักวังวนปัญหาการเงินอีก “นี้คือคำตอบประเด็นเสียงสะท้อนข้างต้นได้เป็นอย่างดี” 

ผลการศึกษาได้ข้อสรุปที่สำคัญว่า “ผู้วิเศษ” ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ Gen Y ตระหนักคิดเรื่องการมีวินัยทางการเงินที่ดีนั้น ไม่ได้เป็นเทวดามาจากไหน แต่เป็นคนในครอบครัวนั่นเอง ผู้เขียนอยากจะเชิญชวนให้ท่านผู้ปกครองทั้งหลายได้ทำหน้าที่ผู้วิเศษ “การช่วยชีวิตปลาดาวในบ้านของท่าน” ให้เกิดความตระหนักทำอยู่เสมอ “ออมก่อนจ่าย”และฉลาดจ่ายระหว่าง “จำเป็นหรืออยากได้” เท่านี้ก็เพียงพอกับการช่วยยับยั้งปัญหาการเงินให้คน Gen Y ในบ้านของท่าน และสังคมโดยรวม  ครับ

1213.jpg

(บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับธนาคารแห่งประเทศไทย)

ผู้เขียน นายประสิทธิ์ สุวรรณสุนทร

ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้