สคร. 12 สงขลา ควบคุมมาลาเรียเชิงรุก ยืนยันยังไม่พบการระบาดในจังหวัดยะลา


14 มี.ค. 2559

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา จับมือหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดยะลาควบคุมโรคมาลาเรียเชิงรุก รณรงค์ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่  พ่นสารเคมีชนิดมีฤทธิ์ตกค้างบนฝาผนังบ้านเรือนในพื้นที่ชุกชุม แจกจ่ายมุ้งชุบสารเคมีให้ประชาชน เผยจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงเป็นลำดับ ยืนยันปัจจุบันไม่พบการระบาดในจังหวัดยะลา เร่งเตรียมพร้อมเฝ้าระวังป้องกันการระบาดของโรคในช่วงหน้าฝน

malaria_banner.jpg

ดร.นายแพทย์สุวิช  ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคมาลาเรียในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน พบว่าจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2559 ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 พบผู้ป่วยมาลาเรียจำนวน 180 ราย ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ที่ผ่านมา   ดูเหมือนว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้เนื่องจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงในสังกัดของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลาได้ดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคมาลาเรียเชิงรุก โดยการเจาะตรวจโลหิตค้นหาผู้ป่วยรายใหม่  จึงไม่ถือว่าเป็นการระบาด เพราะพบผู้ป่วยกระจายอยู่ในบางพื้นที่ เช่น  อำเภอกาบัง อำเภอบันนังสตา  จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล และบางส่วนของพื้นที่ดังกล่าวมีอาจมีปัญหาด้านความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในพื้นที่ได้ดำเนินงานอย่างเต็มที่ ด้วยการพ่นสารเคมีป้องกันยุงชนิดมีฤทธิ์ตกค้างบนฝาผนังตามอาคารบ้านเรือน และแจกจ่ายมุ้งให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรค เพื่อเป็นการทำลายแหล่งเชื้อในคน ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าสามารถทำได้ครอบคลุม และจำนวนผู้ป่วยได้ลดลงเป็นลำดับแล้ว  นอกจากนี้ยังได้มีการปรึกษา ร่วมมือกันเพื่อปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานและกลวิธีที่ใช้ในการค้นหาผู้ป่วยให้เหมาะสมตามสภาพและบริบทของพื้นที่ในแต่ละห้วงเวลาโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน อีกทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ในการจัดตั้งมาลาเรียชุมชน (Malaria Post) เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในการค้นหาผู้ป่วยมาลาเรีย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล และมีความเสี่ยงต่อความขัดแย้ง หากตรวจพบเชื้อ จะมีการจ่ายยารักษาแก่ผู้ป่วยทุกราย โดยไม่คิดค่าบริการใดๆ 

ดร.นายแพทย์สุวิช  ธรรมปาโล  กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้วในช่วงหน้าแล้งจะเป็นช่วงที่มีผู้ป่วยมาลาเรียไม่มากนัก เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะต่อการแพร่กระจายของยุงก้นปล่องซึ่งเป็นพาหะของโรค หากสามารถดำเนินการค้นหาผู้ป่วยทั้งที่มีอาการและกลุ่มผู้ป่วยที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการและไม่ทราบว่าตนเองป่วย ร่วมกับการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคตั้งแต่ในช่วงหน้าแล้งอย่างครอบคลุมและทั่วถึงจะทำให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่มีสภาวะเหมาะสมต่อการแพร่พันธุ์ของยุงที่เป็นพาหะได้  หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคมาลาเรีย สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ข่าวโดย   พรรณภัทร ประทุมศรี นักวิชาการเผยแพร่

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา

1.jpg

ดร.นายแพทย์สุวิช  ธรรมปาโล