การเงินน่ารู้กับ ธปท.ใต้ ตอน ความลับของคุณจะไม่รั่วไหล ด้วยเกราะกันภัยในยุคดิจิทัล


12 พ.ย. 2561

ความลับของคุณจะไม่รั่วไหล ด้วยเกราะกันภัยในยุคดิจิทัล

 

เงินสด รถยนต์ บ้าน และที่ดิน อาจเป็นสินทรัพย์ที่แสดงถึงความมั่งคั่งแก่ผู้เป็นเจ้าของ และในยุคดิจิทัลข้อมูลจะเป็นสินทรัพย์ที่สร้างมูลค่ามหาศาลแก่ผู้นำไปใช้ ปัจจุบันมีการนำข้อมูลจำนวนมาก (Big data) ไปใช้ประโยชน์ในหลายด้านตั้งแต่การวางนโยบายพัฒนาประเทศ งานวิจัย ตลอดจนการทำตลาดของธุรกิจการค้า ดังเช่น ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินไทยหลายแห่งให้บริการโอนเงินฟรีค่าธรรมเนียมเมื่อใช้บริการผ่านโมบายแอปพลิเคชั่น ส่วนหนึ่ง เพื่อต้องการข้อมูลการทำธุรกรรมออนไลน์ที่เป็นเสมือนรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) ของผู้ใช้บริการ มาคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ในทางกลับกัน การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่แพร่หลายอาจเป็นช่องทางให้ผู้ไม่หวังดีแกะรอยข้อมูลส่วนบุคคลตั้งแต่เบอร์โทรศัพท์ รหัสผ่าน ไปจนถึงจำนวนเงินในบัญชีธนาคาร ก้าวทันผลิตภัณฑ์ทางการเงินฉบับนี้ ขอแนะนำ 5 วิธีป้องกันภัยทางการเงินที่มากับยุคดิจิทัล

 

1.โทร.สอบถามให้แน่ใจ ก่อนจะให้ใครยืมเงิน: หากมีบุคคลส่งข้อความมายืมเงินใน Line หรือ Facebook ห้ามให้ยืมในทันที ถึงแม้ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทกันก็ตาม ควรโทรศัพท์สอบถามให้แน่ใจเสียก่อน เนื่องจากอาจมีคนที่ไม่หวังดีปลอมเป็นเพื่อนของเรามาหลอกยืมเงิน แม้จะเป็นจำนวนไม่มากก็ควรที่จะเช็คก่อนเชื่อ

 

2. แชร์ให้โลกรู้ โจรก็รู้: คุณอาจมีเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก และมักจะอัพเดทเรื่องราวของตนเองอยู่อยู่เสมอ แต่หารู้ไม่ว่ามีบางคนกำลังจับตาดูความเคลื่อนไหวของคุณอยู่ เช่น หากคุณแชร์เรื่องราวที่ตนเองได้รับรางวัลจากสลากกินแบ่งรัฐบาล อยู่ระหว่างท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือขายที่ดินได้ คุณก็อาจตกเป็นเป้าหมายแก่ผู้ไม่หวังดี ทางที่ดีควรงดแชร์เรื่องราวที่ดึงดูดความสนใจจากมิจฉาชีพ ซึ่งกำลังจ้องหาเหยื่อในยุคที่ใครๆพร้อมใจกันเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัว

 

3.งดโชว์เลขบัตรประชาชนและวันเกิด อย่าให้โจรต้องมาบอก Happy Birthday: ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่ควรปกปิดอย่าให้ใครรู้ บางคนทำบัตรประชาชนใหม่ ทำหนังสือเดินทาง หรือสอบใบขับขี่ได้ อาจโพสต์รูปเอกสารเหล่านั้นโชว์เพื่อนบน Facebook อีกทั้งยังมีวันเดือนปีเกิดที่แสดงอยู่ในข้อมูลโปรไฟล์ กลายเป็นว่าเพียงแค่โจรส่องมาดูคุณใน Facebook เขาก็ได้ข้อมูลไปแบบครบในที่เดียว ดังนั้น ควรรับเป็นเพื่อนใน Facebook เฉพาะคนที่รู้จัก และไม่ควรแชร์เอกสารหรือข้อมูลส่วนบุคคลใดๆโดยเด็ดขาด

 

4.ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนตัว เมื่อทำธุรกรรมออนไลน์: การทำธุรกรรมผ่านโมบายแอปพลิเคชันกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อใช้งาน หากใช้อินเทอร์เน็ตหรือคอมพิวเตอร์สาธารณะ อาจมีความเสี่ยงจากการถูกดักจับข้อมูล รหัสผ่าน ที่สามารถเข้าถึงเงินในบัญชีธนาคารของคุณได้ แม้จะใช้อินเทอร์เน็ตส่วนตัวก็ควรระมัดระวังในการกรอกข้อมูล เพราะอาจถูกหลอกด้วยเว็บไซต์ที่มิจฉาชีพขุดหลุมพรางไว้ก็เป็นได้ เช็คให้แน่ใจด้วยการสังเกตว่าที่อยู่ของเว็บไซต์(URL) ขึ้นต้นด้วย https และมีสัญลักษณ์รูปแม่กุญแจแสดงอยู่ ซึ่งจะทำให้ข้อมูลที่เรารับส่งนั้นปลอดภัย และอย่าลืมตั้งรหัสผ่านให้รัดกุม ตลอดจนอัพเดทแอปพลิเคชันและระบบปฏิบัติการอยู่เสมอ

 

5.รีบลงทุนในยุค 4.0 เงินจะกลายเป็น 0 โดยไม่รู้ตัว: การระดมทุนในยุคดิจิทัลกำลังได้ความสนใจจากทั่วโลกทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล ซึ่งเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และกำหนดสิทธิในการร่วมลงทุน  กลายเป็นเครื่องมือที่เหล่ามิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวง เนื่องจาก คริปโทเคอร์เรนซี    และโทเคนดิจิทัล เป็นเรื่องใหม่ที่ประชาชนยังขาดความเข้าใจ   ทำให้หลายคนตกเป็นเหยื่อของขบวนการแชร์ลูกโซ่ จุดสังเกต    ว่าจะเป็นการหลอกลวง คือ บอกเฉพาะข้อดีว่าได้ผลตอบแทนสูง (ทั้งที่จริงมูลค่าผันผวน) เรียกเก็บค่าสมาชิกแรกเข้าค่อนข้างสูง เร่งรัดให้ชักชวนเพื่อนมาลงทุนเพื่อที่จะได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ตลอดจนมีการบ่ายเบี่ยงเมื่อถึงเวลาจ่ายผลตอบแทน  ดังนั้น หากคุณคิดจะลงทุนใดๆควรศึกษาให้เข้าใจก่อน เว็บไซต์ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. (www.sec.or.th) เขามีคำตอบในเรื่องการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล

002.jpg

ขอเพียงมีสติ หมั่นติดตามข่าวสาร คุณก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในยุคดิจิทัล ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินไทย ให้ความสำคัญกับการยกระดับ Cyber Security เพื่อให้ภาคการเงินไทยก้าวเข้าสู่ยุค Digital banking ได้อย่างมั่นคง รวมทั้งร่วมมือกับ กสทช. ยกระดับความปลอดภัยของโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่างไรก็ดี ประชาชนเองจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีทางการเงิน และรู้จักปกป้องตัวเองจากภัยในโลกยุคใหม่  Facebook ของศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ศคง. (www.facebook.com/hotline1213) เขาพร้อมที่จะติดอาวุธความรู้เพื่อป้องกันภัยทางการเงินให้กับคุณ ทั้งยังมีสายด่วน 1213 ที่รอตอบคำถามและรับเรื่องร้องเรียน ดังนั้น สิ่งสำคัญในการป้องกันคือ “มีสติ” และ “ติดตามข่าวสาร” ซึ่งเป็นเสมือน “เกราะกันภัย” ที่จะช่วยปกป้องคุณจากภัยทางการเงินและ  ภัยด้านอื่นๆในชีวิตประจำวัน

 

ที่มา        1. ​ความรู้เกี่ยวกับกลโกงออนไลน์  เว็บไซต์ www.1213.or.th

                https://www.1213.or.th/th/finfrauds/OnlineCrime/Pages/OnlineCrime.aspx

2. ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล         

             http://www.sec.or.th/mpublish/digitalasset/digitalasset.html

3. สำนักงาน กสทช. จับมือธนาคารแห่งประเทศไทยคุ้มครองผู้ใช้บริการ Mobile Payment

https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Activities/Documents/PressRelease_170659.pdf

 

 

ผู้จัดทำ : นายสุรเชษฐ์ ศรีภูริรักษ์

ผู้วิเคราะห์ ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้