หาดใหญ่โพลเผย คนใต้เห็นด้วย พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
สรุปผลการสำรวจหาดใหญ่โพล HATYAI POLL เรื่อง “ ประชาชนชาวใต้กับการเลือกตั้งปี 2562”
หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับประชาชนชาวใต้กับการเลือกตั้งปี 2562 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจ ครั้งนี้เป็นประชาชนใน 6 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดพัทลุง จังหวัดสตูล จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส จำนวน 402 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม จำนวน 200 คน และด้วยวิธีแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 202 คน ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายน 2561 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้
สถานภาพของกลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 51.92) อายุอยู่ในช่วง 21-30 ปี (ร้อยละ 34.85) รองลงมา ช่วงอายุ 31-40 ปี (ร้อยละ 20.96) และช่วงอายุ 18-20 ปี (ร้อยละ 13.38) ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน/นักศึกษา (ร้อยละ 33.83) รองลงมา เป็นพนักงานบริษัท/ลูกจ้าง ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และประกอบอาชีพกิจการส่วนตัว/ค้าขาย คิดเป็นร้อยละ 18.91 14.68 และ 13.93 ตามลำดับ
สรุปผลการสำรวจ
รองศาสตราจารย์ทัศนีย์ ประธาน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผล การสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ติดตามข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้ง (ร้อยละ 84.83) กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 87.06 ตั้งใจจะไปเลือกตั้ง โดยกลุ่มตัวอย่างที่ไปเลือกตั้ง และกลุ่มที่ไม่แน่ใจ ให้ความสำคัญกับคุณลักษณะด้านความซื่อสัตย์มากที่สุด ร้อยละ 43.11 และ 78.79 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มไม่ไปเลือกตั้งให้ความสำคัญด้านความรู้ความสามารถ (ร้อยละ 42.11) ส่วนกระบวนการเลือกตั้งพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถจัดการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใสได้ (ร้อยละ 61.94) และเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะได้รัฐบาลที่มีหลักธรรมาภิบาล (ร้อยละ 60.20)
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล พบว่า ประชาชนร้อยละ 29.66 ต้องการให้ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มากที่สุด มีร้อยละเท่ากัน รองลงมา คือ พรรคอนาคตใหม่ (ร้อยละ 24.71) และพรรครวมพลังประชารัฐ (ร้อยละ 7.60) เมื่อพิจารณาเฉพาะสถานภาพกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีงานทำตัดสินใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์เป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นพรรคเพื่อไทย (ร้อยละ 35.03 และ 28.66 ตามลำดับ) ส่วนกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาตัดสินใจเลือกพรรคอนาคตใหม่เป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ (ร้อยละ 48.75 26.25 และ 18.75 ตามลำดับ) ส่วนกลุ่มแม่บ้าน/ว่างงาน ตัดสินใจเลือกพรรคเพื่อไทยเป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ (ร้อยละ 46.15 และ 30.77 ตามลำดับ) เมื่อพิจารณาการตัดสินใจไปเลือกตั้งของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มที่ตั้งใจไปเลือกตั้งเลือกพรรคประชาธิปัตย์เป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 31.76) รองลงมาเป็นพรรคเพื่อไทย (ร้อยละ 28.33) และพรรคอนาคตใหม่ (ร้อยละ 24.03) ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ไม่แน่ใจว่าจะไปเลือกตั้งเลือกพรรคอนาคตใหม่ (ร้อยละ 52.94) พรรคประชาธิปัตย์และพรรครวมพลังประชารัฐ มีร้อยละเท่ากัน (ร้อยละ 23.53)
ประเด็นเกณฑ์การตัดสินใจเลือก สส. พบว่า ประชาชนให้ความสำคัญในการเลือกคุณลักษณะผู้สมัครด้านความซื่อสัตย์ มากที่สุด (ร้อยละ 43.53) รองลงมาเป็นด้านความรู้ความสามารถของสส. (ร้อยละ 22.89) และนโยบายของพรรคที่สส. สังกัด (ร้อยละ 20.15) ตามลำดับ นอกจากนี้ประชาชนต้องการให้นักการเมืองที่จะลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ มีพฤติกรรมไม่โกงกินบ้านเมือง มากที่สุด (ร้อยละ 29.35) รองลงมาเป็นมีพฤติกรรมไม่ซื้อเสียง (ร้อยละ 14.43) และต้องรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง (ร้อยละ 8.21) ตามลำดับ
ประชาชนร้อยละ 42.29 คาดว่าสภาพเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งจะดีขึ้น รองลงมา สภาพเศรษฐกิจเหมือนเดิม (ร้อยละ 34.83) และสภาพเศรษฐกิจแย่ลง (ร้อยละ 16.67) ตามลำดับ และประชาชนร้อยละ 39.05 คาดว่าสภาพบ้านเมืองหลังการเลือกตั้งจะมีสภาพดีขึ้น (ร้อยละ 39.05) รองลงมามีสภาพบ้านเมืองเหมือนเดิม (ร้อยละ 32.84) และสภาพบ้านเมืองแย่ลง (ร้อยละ 24.13) ตามลำดับ