การเงินน่ารู้กับ ธปท.ใต้ ตอน บัตรเดบิต เป็นได้มากกว่าบัตรถอนเงินสด


21 ธ.ค. 2561

บัตรเดบิต เป็นได้มากกว่าบัตรถอนเงินสด

City Real Estate.jpg

จำนวนบัตรอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย อ้างอิงจากข้อมูลรายงานธุรกรรมการ   ชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำไตรมาส 2 ปี 2561 ปัจจุบันมีบัตรอิเล็กทรอนิกส์รวม 102.8 ล้านใบ ส่วนใหญ่เป็นบัตรเดบิตจำนวน 63.5 ล้านใบ และรองลงมาเป็นบัตรเครดิต จำนวน 21.3 ล้านใบ อย่างไรก็ดี พบว่าการใช้งานบัตร เดบิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นเพื่อการถอนเงินสดจากเครื่อง ATM ซึ่งแท้จริงแล้ว บัตรเดบิตยังมีคุณสมบัติและประโยชน์ในการใช้งานอย่างอื่น วันนี้จึงอยากให้คุณผู้อ่านได้รู้จักกับบัตรเดบิตมากยิ่งขึ้น ทราบข้อแตกต่างกับบัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต รวมถึงมีคำแนะนำการใช้งานบัตรให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ

บัตรเดบิต (Debit Card) คือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ธนาคารออกให้ โดยผูกข้อมูลกับบัญชีเงินฝากของผู้ถือบัตร เพื่อการทำธุรกรรมทางการเงิน ผ่านเครื่อง ATM (เหมือนบัตรเอทีเอ็ม) หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การถอนเงิน การโอนเงิน การสอบถามยอด และการชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งที่ร้านค้าและการซื้อออนไลน์ โดยเป็นการหักชำระเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ถือบัตรทันที ปัจจุบันมีบัตรเดบิตหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นแบบธรรมดา (ไม่มีประกันคุ้มครอง) หรือแบบมีประกันคุ้มครอง ซึ่งแต่ละประเภทบัตรเดบิตจะมีสิทธิประโยชน์และค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ถือบัตรต้องมีภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี ตามเงื่อนไขของแต่ละผู้ให้บริการบัตร โดยสามารถเปรียบเทียบข้อมูลและเงื่อนไขผลิตภัณฑ์บัตรเดบิตได้จากเว็บไซต์ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน > เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ > บัตรเดบิต (https://www.1213.or.th/th/aboutfcc/Pages/productdisclosure.aspx)

000001.jpg

ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างบัตรเดบิตกับบัตรเอทีเอ็ม คือบัตรเดบิตสามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการรูดบัตรผ่านเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) หรือการซื้อออนไลน์ ซึ่งผู้ถือบัตรต้องชำระเงินออนไลน์ด้วยการใส่เลขบัตรเดบิต 16 หลัก รหัส CVV (เลข 3 หลัก ด้านหลังบัตร) วันหมดอายุของบัตร และรหัสผ่านใช้ครั้งเดียว (OTP: One Time Password) ที่ได้รับทาง SMS

นอกจากบัตรเอทีเอ็มแล้ว คุณผู้อ่าน อาจสงสัยว่าแล้วบัตรเดบิตกับบัตรเครดิต ต่างกันอย่างไร?

บัตรเดบิตสามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกับบัตรเครดิต แต่จะแตกต่างกันในเรื่องของการหักชำระเงิน โดยบัตรเดบิตจะหักชำระเงินจากบัญชีเงินฝากทันที นั่นหมายถึงผู้ถือบัตรเดบิตต้องมีเงินในบัญชีให้เพียงพอกับค่าสินค้าและบริการ ขณะที่บัตรเครดิต จะเป็นการ “ซื้อก่อนแล้วชำระเงินภายหลัง” ซึ่งก็คือสินเชื่อส่วนบุคคล โดยผู้ถือบัตรเครดิตสามารถใช้จ่ายได้ภายในวงเงินที่ผู้ให้บริการบัตรเครดิตกำหนด และมีหน้าที่ต้องชำระเงินคืนภายในระยะเวลาที่กำหนด หากกรณีชำระล่าช้า จะมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเกิดขึ้น

การใช้บัตรเดบิตเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการแทนการใช้เงินสด มีประโยชน์สำคัญแก่ประชาชนอย่างพวกเรา คือ เพิ่มความปลอดภัยในการชำระเงินด้วยระบบ Chip card ของบัตรเดบิตแทนที่ระบบแถบแม่เหล็กของบัตรเอทีเอ็มซึ่งมีโอกาสถูกมิจฉาชีพคัดลอกข้อมูลบัตรแล้วนำไปกดเงินได้ (Skimming) เพิ่มความสะดวกและความรวดเร็วในการชำระค่าสินค้าแทนการต้องไปกดเงินสดที่ตู้ ATM ลดความเสี่ยงจากการถือเงินสดและความผิดพลาดจากการได้รับเงินทอน และสามารถเรียกดูรายการชำระเงินย้อนหลังได้ทั้งจาก Mobile Banking Internet Banking และจากการอัพเดทสมุดบัญชี

000002.jpg

แม้ว่าการใช้งานบัตรเดบิตจะมีข้อดีมากมาย แต่หากใช้งานไม่ระวัง อาจจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ ดังนั้นจึงมีวิธีใช้งานบัตรเดบิตให้ห่างไกลมิจฉาชีพมาฝาก ไม่ว่าจะเป็น (1) ไม่ตั้งรหัสผ่านง่ายต่อการสุ่มเดา เช่น วันเกิด และไม่เก็บรหัสผ่านไว้รวมกับบัตร รวมถึงควรเปลี่ยนรหัสผ่านอยู่เสมอ (2) ปิดบังรหัส CVV (เลข 3 หลัก ด้านหลังบัตร) เนื่องจากเป็นรหัสเพื่อยืนยันตัวตนในการชำระเงินออนไลน์ ซึ่งหากมิจฉาชีพได้รหัสนี้ไป ก็มีโอกาสที่จะนำไปใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้ (3) ไม่ปล่อยให้บัตรคลาดสายตา โดยเฉพาะเวลาพนักงานนำไปรูดชำระเงิน (4) เปิดใช้บริการแจ้งเตือนความเคลื่อนไหวบัญชีผ่าน SMS เพื่อให้ทราบทุกครั้งหากมีการรูดบัตรชำระค่าสินค้า และ(5) ตรวจสอบยอดการใช้จ่ายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นก่อนการรูดซื้อสินค้า และหลังจากใช้จ่ายไปแล้วในรายการเดินบัญชี หรือ Application ของบัตร

การส่งเสริมให้ใช้บัตรเดบิต ถือเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ที่รัฐบาลร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยสนับสนุน เพื่อลดการใช้เงินสด ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์แก่ประชาชนแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการจัดการธนบัตรของประเทศได้จำนวนมาก โดยในปีที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตและขนส่งธนบัตรมีมูลค่ามากถึง 50,000 ล้านบาท รู้อย่างนี้แล้ว ลองหันมาใช้บัตรเดบิตแทนเงินสดกันเถอะ

 

 

ที่มา   1. บัตรเดบิต

https://www.1213.or.th/th/serviceunderbot/payment/Pages/debit.aspx

2. บัตรเดบิตใช้แล้วจะติดใจ

http://www.epayment.go.th/home/app/project-2

3. รายงานธุรกรรมการชำระเงิน ประจำไตรมาส 2 ปี 2561

https://www.bot.or.th/Thai/Statistics/PaymentSystems/Documents/Q2_2561.pdf

4. เส้นทางสู่สังคม (กึ่ง) ไร้เงินสด?

https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_28Aug2018.pdf

 

 

ผู้จัดทำ : นางสาวญาณิศรา ศตะรัต

ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้