การเงินน่ารู้กับ ธปท.ใต้ ตอน เงินเฟ้อตัวร้าย ขโมยเงินในกระเป๋า


26 ธ.ค. 2561

เงินเฟ้อตัวร้าย ขโมยเงินในกระเป๋า

003.jpg

ทำไมนะ เมื่อ 20 ปีก่อนเรามีเงินในกระเป๋า 100 บาท สามารถซื้อของได้เยอะแยะมากมายแต่ปัจจุบันจะสามารถซื้อของได้น้อยลง ยกตัวอย่างง่ายๆ สมัยที่พ่อแม่เรายังหนุ่มสาวก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ 25 บาท ถ้าเรามีเงิน 100 บาท เราสามารถกินก๋วยเตี๋ยวได้ถึง 4 ชาม แต่ในปัจจุบัน ก๋วยเตี๋ยวชามละ 40-50 บาท เราก็สามารถกินได้แค่ 2 ชาม แล้วสงสัยกันหรือไม่ว่าอะไรทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น
 

002.jpg

ผู้อ่านหลายท่านคงเคยเห็นและได้ยินคำว่า “เงินเฟ้อ” จากข่าวทางโทรทัศน์ วิทยุ หรืออ่านเจอในสื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ แต่บางคนอาจจะยังไม่รู้และไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วภาวะเงินเฟ้อคืออะไร ภาวะเงินเฟ้อ คือ การที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือถ้าดูที่มูลค่าของเงิน เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่มูลค่าเงินมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือภาวะที่ของแพงขึ้นนั่นเอง เพราะฉะนั้นหากเป็นแบบนี้ต่อไปอีก 10-20 ปีข้างหน้าเราก็คงไม่สามารถกินก๋วยเตี๋ยวชามละ 40 บาทได้แล้ว ราคาก๋วยเตี๋ยวต้องขยับขึ้นไปมากกว่านี้

การที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นบ้างถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากราคาสินค้าและบริการในท้องตลาดหลายๆ ชนิดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเกินปกติโดยทั่วไป จะถือว่าเป็นภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามหลักวิชาการมี 2 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ 1.ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น (Cost-Push Inflation) ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น สาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่น การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน การเกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ดังนั้นเมื่อต้นทุนในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นไม่ว่าจากปัจจัยใดก็ตาม จะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น เราต้องใช้เงินมากกว่าเดิมในการซื้อสินค้าหรือบริการชนิดเดิม 2.ความต้องการซื้อมากกว่าความสามารถในการผลิต (Demand-Pull Inflation) เมื่อผลิตได้น้อยแต่คนต้องการมากจึงแย่งกันซื้อ ผู้ผลิตหรือผู้ขายสามารถปรับราคาได้ ทำให้สินค้ามีราคาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

หรือจะเปรียบเทียบง่ายๆ ให้ภาวะเงินเฟ้อเหมือนกับอาการท้องเฟ้อ ท่านผู้อ่านลองนึกตามถึงอาการอืดๆ ของท้องที่จะเริ่มพองขึ้นแต่กลับกลวงเพราะเต็มไปด้วยอากาศหรือแก๊ส เงินเฟ้อก็เหมือนกัน คือ เหมือนว่าเรามีเงินเยอะ หรือในระบบเศรษฐกิจมีเงินหมุนเวียนอยู่เยอะ แต่ค่าของเงินจริงๆ กลับลดลง เพราะของแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ซื้อของได้น้อยลง เงินจึงเปรียบเสมือนแก๊สที่มีอยู่มากๆเต็มท้องเรา แต่ไม่ได้มีค่า ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกอิ่ม

ท้ายที่สุดแล้วภาวะเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดการณ์ และเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเงินเฟ้อจะไม่มีข้อดี ถ้าอัตราเงินเฟ้อเกิดในอัตราอ่อนๆ ประมาณ 1-2 % จะเป็นตัวที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจในการผลิตสินค้า เกิดการจ้างงาน คนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้นและเกิดการใช้จ่ายทั้งในภาคครัวเรือนและภาคเศรษฐกิจ แต่หากเงินเฟ้อเกิดขึ้นในอัตราที่สูงจนเกินไปก็จะส่งผลกระทบโดยตรงกับคนที่มีรายได้คงที่หรือมีเงินเดือนประจำเพราะทำให้อำนาจซื้อลดลง เงินเท่าเดิมซื้อของชิ้นเดิมได้ในปริมาณที่น้อยลง ดังนั้นจึงขอฝากให้ผู้อ่านทุกท่านอย่าลืมดูแลเงินในกระเป๋าของตัวเองให้ดี หาวิธีการในเก็บรักษาเงิน และต่อยอดให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นเพื่อไม่ให้เงินเฟ้อมาทำให้มูลค่าของเงินที่เรามีลดลงไปตามกาลเวลา

บทความโดย  อารียา ยวงทอง