การเงินน่ารู้กับ ธปท.ใต้ ตอน เกษียณปลอดภัยจากเงินเฟ้อ ด้วยอัตราดอกเบี้ยทบต้น


26 ธ.ค. 2561

เกษียณปลอดภัยจากเงินเฟ้อ ด้วยอัตราดอกเบี้ยทบต้น

005.jpg

          การเกษียณอายุ เป็นสิ่งที่ทุกคนทราบดีว่าตนเองต้องประสบพบเจอ แต่มีสักกี่คนที่เตรียมความพร้อมสำหรับการเกษียณ โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก  คือ การเตรียมความพร้อมด้านการเงิน เพราะผู้ที่เกษียณอายุจะไม่มีรายได้จากการประกอบอาชีพ หากไม่มีเงินออมที่เพียงพอสำหรับใช้จ่าย อาจทำให้ผู้ที่เกษียณอายุมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการยังชีพ นอกจากนี้ในปี 2574 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่า 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสภาวะดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทย มีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในทุกๆปี ประกอบกับคนในวัยทำงานที่มีรายได้เพื่อเสียภาษีมีจำนวนลดลง ทำให้รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะมีรายได้จากภาษีลดลง จึงมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตสวัสดิการสำหรับการสนับสนุนผู้สูงอายุอาจจะลดความสะดวกสบายลงจากในปัจจุบัน

การวางแผนทางการเงิน จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับทุกคน เพราะหากมีการวางแผนการเงินที่ดีไม่ว่าจะเป็นการออมเงิน หรือ ลงทุน ก็จะช่วยให้มีเงินออมหรือทรัพย์สินต่างๆที่จะช่วยให้การดำเนินชีวิตในช่วงยามเกษียณได้อย่างสุขสบาย ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสวัสดิการต่างๆในการยังชีพ

แล้วเราต้องออมอย่างไรเพื่อให้มีเงินเพียงพอสำหรับใช้หลังเกษียณ ขึ้นอยู่กับ 1) จะมีชีวิตนานเท่าไหร่ 2) ค่าใช้จ่ายต่อเดือน 3) เงินเฟ้อ ลองคิดแบบง่ายๆดูว่าหากเราจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี  และจะมีชีวิตจนถึงอายุ 85 ปี โดยมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต เดือนละ 10,000 บาท ดังนั้นเงินที่เราต้องการทั้งหมดจะเท่ากับ 3,000,000 บาท อย่างไรก็ดี ยังคงมีหลายๆคนที่คิดว่าการเกษียณยังคงเป็นเรื่องไกลตัว รอจนใกล้ระยะเวลาที่เกษียณอายุแล้วจึงค่อยออมเงินก็ยังไม่สาย แม้ในความเป็นจริงการออมเงินในช่วงระยะเวลาใดก็ไม่มีคำว่าสายเกินไป เพียงแต่หากเริ่มต้นช้าก็อาจจะเป็นภาระสำหรับผู้ออมได้ เช่น ถ้าเราต้องการเงิน 3,000,000 บาท หากเริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่อายุ 22 ปี จะต้องออมเงินเดือนละ 6,600 บาท แต่หากเริ่มวางแผนการเงินตอนอายุ 50 ปี จะต้องออมเงินเดือนละ 25,000 บาท จะเห็นได้ว่าจำนวนเงินที่ต้องออมจะแตกต่างกันค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ หลายๆคนอาจจะโต้แย้งว่า การออมเงินจำนวนมากในช่วงใกล้เกษียณอายุก็ไม่ถือเป็นภาระที่หนักหนาเกินไป เพราะในช่วงเวลานั้นตนเองน่าจะมีเงินเดือนหรือรายได้ที่สูงมากแล้ว แต่ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ยังคงอยู่ และจากข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ พบว่าแม้เข้าสู่ช่วงใกล้เกษียณอายุ แต่ปริมาณหนี้ก็ยังไม่ลดลง ดังนั้นการออมเงินในช่วงระยะเวลาใกล้เกษียณเพียงอย่างเดียวอาจจะเป็นความคิดที่ไม่ดีนัก ในทางกลับกัน หากเริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่อายุยังน้อย หรือตั้งแต่เริ่มประกอบอาชีพมีรายได้ ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่มากนัก และยังได้รับผลประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่า “ ดอกเบี้ยทบต้น”

ดอกเบี้ยทบต้น คือ การที่เราฝากเงินแล้วได้รับดอกเบี้ย และดอกเบี้ยจะถูกทบรวมเข้ากับเงินที่ฝากก่อนหน้ารวมกันกลายเป็นเงินต้นที่ใช้ในการคำนวณดอกเบี้ยต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ในตอนต้นของปีที่ 1 ฝากเงินกับธนาคารจำนวน 100 บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 เมื่อระยะเวลาครบหนึ่งปี ผู้ฝากเงินก็จะได้รับดอกเบี้ยจำนวน 3 บาท หากในปีที่ 2 ผู้ฝากเงินยังไม่ถอนออกดอกเบี้ยที่ได้รับในปีที่ 1 ก็จะถูกทบเข้าเป็นเงินต้นที่ใช้คำนวณอัตราดอกเบี้ยในปีที่ 2 คือ 103 บาท และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปจนกระทั่งเราถอนเงินออกมา จะเห็นได้ว่าเมื่อระยะเวลาผ่านดอกเบี้ยทบต้นจะส่งผลให้เงินต้นถูกนำไปคำนวณดอกเบี้ยมีจำนวนมากขึ้น ดอกเบี้ยที่ได้รับในช่วงระยะเวลาต่อมาก็จะมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

 

004.jpg

อย่างไรก็ดี การคำนวณจำนวนเงินที่เราต้องการเพื่อให้เพียงพอสำหรับใช้หลังเกษียณข้างต้นยังไม่สมจริงมากนัก เพราะไม่ได้นำอัตราเงินเฟ้อมาร่วมคำนวณด้วย ซึ่งในความเป็นจริงอัตราเงินเฟ้อจะเป็นสิ่งที่ลดมูลค่าของเงิน เนื่องจากราคาของสินค้าต่างๆสูงขึ้น สังเกตได้จากราคาสินค้าบางประเภทที่ในช่วง 10 ปีก่อน มีราคาต่ำกว่าในยุคปัจจุบันค่อนข้างมาก ดังนั้นในอนาคต เมื่อถึงเวลาที่เกษียณอายุ เงิน10,000 บาท ที่เตรียมไว้สำหรับใช้จ่ายในแต่ละเดือนอาจจะไม่เพียงพอแล้ว เนื่องจากข้าวของที่แพงขึ้น

การวางแผนทางการเงิน หรือการออมเงินสำหรับการเกษียณจำเป็นต้องพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยทบต้น เพราะอัตราเงินเฟ้อเปรียบเสมือนเป็นดาบที่จะโจมตีเพื่อลดมูลค่าหรืออำนาจซื้อของเงินในอนาคตให้มีค่าต่ำกว่าในปัจจุบัน ดังนั้นผู้วางแผนจำเป็นต้องลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีอันเปรียบเสมือนเป็นเกราะป้องกันมูลค่าเงินให้กับตนเอง โดยยิ่งผู้วางแผนมีการออมเงินและลงทุนที่รวดเร็วเพียงใด ก็จะยิ่งเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้อัตราดอกเบี้ยทบต้นมีระยะเวลาที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าเงินของผู้วางแผนมากเท่านั้น

 

บทความโดย ธนิก พรเทวบัญชา ธันวาคม 2561