ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นำพสกนิกรชาวสงขลาร่วมชื่นชมพระบารมีในหลวง ร.10 เสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ผ่านการถ่ายทอดสดโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เพื่อแสดงความจงรักภักดี
(6 พ.ค. 62) ที่บริเวณพระพุทธศรีสงขลานครินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีนางอัญญาณี เพ็งจันทร์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา นายราชิต สุดพุ่ม นายศักระ กปิลกาญจน์ นายไพโรจน์ จริตงาม นายอำพล พงศ์สุวรรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ศาล เจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ ประชาชนจิตอาสาและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความจงรักภักดีและชื่นชมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ ผ่านการถ่ายทอดสดโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
โดยในบริเวณงานฯ ได้จัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาและความสำคัญของ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก", นิทรรศการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในจังหวัดสงขลา, การประดับซุ้มเฉลิมพระเกียรติและการจัดให้ประชาชนร่วมลงนามถวายพระพรชัยมงคลเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ ท่ามกลางการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในด้านสถานที่ น้ำดื่ม การปฐมพยาบาลและรถสุขาไว้คอยบริการ
จากนั้นในเวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวังให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ต่อจากนั้นในเวลา 17.30 น. เสด็จออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทให้คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล และในเวลา 19.00-19.30 น. จะมีการถ่ายทอดสดการแสดงแปรอักษรเฉลิมพระเกียรติในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ด้วยโดรนกว่า 300 ลำ โดยจะแปรเป็นรูปร่างต่าง ๆ จำนวน 7 แบบ ได้แก่รูปแผนที่ประเทศไทย, รูปธงชาติไทย, อักษรคำว่า "ราชวงศ์จักรี", เลขสิบไทย (๑๐), พระปรมาภิไธยย่อ วปร, รูปพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และอักษรคำว่า "ทรงพระเจริญ" ณ บริเวณท้องสนามหลวง
สำหรับพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ตั้งอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ระหว่างประตูเทวาพิทักษ์กับประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นที่ประทับทอดพระเนตรขบวนแห่ในพระราชพิธีสนานใหญ่ และการฝึกช้าง ลักษณะเป็นพลับพลาโถง ทำด้วยเครื่องไม้ มีอัฒจันทร์ขึ้นลงทางทิศเหนือและทิศใต้ ต่อมาในรัชกาลที่4 โปรดเกล้าฯ ให้ก่อผนังอิฐฉาบปูนต่อเติมหลังคาเป็นยอดปราสาท และในปี พ.ศ. 2492 ได้มีการต่อเติมสร้างเฉลียงไม้ให้เป็นหน้าต่างของพระที่นั่ง หรือ สีหบัญชร บริเวณฝั่งด้านตะวันออก
ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว ประชา โชคผ่อง- ทีมข่าวส.ปชส สงขลา/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา