พระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิดและทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วย ตลอดจนทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่างๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อมีพระชนมายุ ๑๓ พรรษา ขณะที่ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ โดยทรงเรียนการเป่า แซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และการบรรเลงดนตรีสากลต่างๆ ในแนวดนตรีคลาสสิค เป็นเบื้องต้น ต่อมาจึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟน สอดแทรกกับแผ่นเสียงของ นักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี เช่น Johnny Hodges และ Sidney Berchet เป็นต้น จนทรงมีความชำนาญ สอดแทรกกับแผ่นเสียง ของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี และทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz เป็นอย่างมาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม เช่น แซกโซโฟน คลาริเนต และประเภทเครื่องทองเหลือง เช่น ทรัมเป็ต รวมทั้งเปียโน และกีตาร์์ ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลง และเพื่อทรงดนตรี ร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลงเมื่อมีพระชนมพรรษาได้ ๑๘ พรรษาในปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “แสงเทียน” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก และจนถึงปัจจุบันมีเพลงพระราชนิพนธ์ ทั้งสิ้น ๔๘ เพลง ทุกเพลงล้วนมีทำนองไพเราะประทับใจผู้ฟัง สอดคล้องกับเนื้อร้อง ซึ่งมีคตินานัปการ และเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย ในยามที่บ้านเมืองไม่สงบสุข ก็พระราชทานเพลงปลุกใจ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แก่ ข้าราชการ ทหาร พลเรือน และประชาชน ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ มิให้เกิดความย่อท้อในการทำความดี ต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต่อตนเองและสังคม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ดนตรีให้เป็นประโยชน์ทางอ้อมในหลายด้าน อาทิ ทรงใช้เครื่องดนตรีเป็นสื่อผูกพันสถาบันพระมหากษัตริย์กับนิสิตนักศึกษา โดยเสด็จ ฯ ไปทรงดนตรีร่วมกับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่นาน กว่า ๑๐ ปี
ในคราวเสด็จเยือนต่างประเทศ ก็ทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อ กระชับสัมพันธไมตรี ระหว่างประเทศกับนานาประเทศได้อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พระปรีชาสามารถด้านดนตรี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ชื่นชมของชาวต่างประเทศ
จนกระทั่งปีพ.ศ ๒๕๐๗ สถาบันการดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา (ปัจจุบันเปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะการแสดง) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรและสมาชิกกิตติมศักดิ์ลำดับที่ ๒๓ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมนามาภิไธย“ภูมิพลอดุลยเดช” ปรากฏอยู่บนแผ่นจำหลักหินของสถาบัน ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่มีอายุน้อยที่สุดและเป็นชาวเอเชียเพียงผู้เดียวที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้
พระอัจฉริยภาพด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ชื่นชมไม่เพียงในประเทศไทยเท่านั้นนักดนตรีต่างประเทศ ทั่วโลกก็ชื่นชมและยอมรับในพระอัจฉริยภาพนี้
นอกจากจะทรงพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์เพลงและทรงดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงเป็น “ครูใหญ่” สอนดนตรีแก่ แพทย์ ราชองครักษ์ และ ข้าราชการผู้ปฏิบัติราชการใกล้ชิดพระยุคลบาทในช่วงที่เสด็จเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ตลอดจน ข้าราชบริพารในพระองค์ซึ่งส่วนใหญ่เล่นดนตรีไม่เป็นเลย จนเล่นดนตรีเป็น และสามารถบรรเลงในโอกาสพิเศษต่างๆได้ ต่อมาจึงได้เกิดแตรวง “วงสหายพัฒนา” โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นหัวหน้าวง
ในด้านดนตรีไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะอนุรักษ์ดนตรีไทย และนาฏยศิลป์ไทยไว้ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป โดยมีพระราชกระแสรับสั่งให้นักดนตรีไทยช่วยกันรักษาระดับเสียงของดนตรีไทยไว้เพื่อเป็นมาตรฐาน ของวงดนตรีรุ่นหลัง ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือ “โน้ตเพลงไทย เล่ม ๑” เพื่อรวบรวมและรักษาศิลปะทางดนตรีไทยไว้ให้เป็นหลักฐานและมาตรฐานต่อไป และทรงสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัย บันไดเสียงของดนตรีไทย โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์
นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีครอบประธานครูโขนละครและต่อ กระบวนรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงในวิชาดนตรีและนาฏยศิลป์ไทยอีกด้วย ซึ่งกิจกรรมทั้ง ๒ อย่างนั้น ดำเนินมาจนถึงจุดที่ใกล้จะสูญสิ้นแล้ว จึงนับได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่อนุรักษ์ศิลปะของไทยเพื่อให้เป็นมรดกของชาติสืบต่อไป
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นสังคีตกวีแห่งราชวงศ์จักรีพระองค์นี้ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แม้ด้านดนตรีก็มิได้เว้น
พระมหากษัตริย์นักดนตรี
มีเรื่องเล่ากันมาว่า นักดนตรีเอกของโลกได้กล่าวถึงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรีว่า หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ก็จะต้องทรงเป็นพระราชานักดนตรีของโลก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นทั้งพระมหากษัตริย์และทรงเป็นนักดนตรีได้พร้อมกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในด้านดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังที่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในบทพระนิพนธ์ “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์” ความตอนหนึ่งว่า
“เมื่อถึงเวลาสนพระทัยแผ่นเสียงก็แข่งกันอีก รัชกาลที่ ๘ ทรงเลือก Louis Armstrong, Sidney Berchet รัชกาลที่ ๙ ทรงเลือก Duke Ellington Count Basie เกี่ยวกับการซื้อแผ่นเสียงนี้ ถ้าเป็นแจ๊ส
ต้องซื้อเอง ถ้าเป็นคลาสสิคเบิกได้”
“สิ่งที่ทรงเล่นมาด้วยกันเป็นเวลานานคือดนตรี รัชกาลที่ ๘ ทรงเริ่มด้วยเปียโนเพราะเห็นข้าพเจ้าเรียนอยู่ รัชกาลที่ ๙ ขอเล่นหีบเพลง (accordion) เรียนอยู่ไม่กี่ครั้งก็ทรงเลิก “เพราะไม่เข้ากับเปียโน”แล้วรัชกาลที่ ๘ ก็ทรงเลิกเรียนเปียโนไปเมื่ออยู่อาโรซ่า เวลาหน้าหนาว ได้ทอดพระเนตรวงดนตรีวงใหญ่ ที่เล่นอยู่ที่โรงแรม รู้สึกอยากเล่น ทรงหาแซกโซโฟนที่เป็นของใช้แล้ว (second hand) มาได้ ราคา ๓๐๐ แฟรงค์ แม่ออกให้ครึ่งหนึ่งและสโมสรปาตาปุมออกให้อีกครึ่งหนึ่ง เมื่อครูมาสอนที่บ้าน รัชกาลที่ ๘ ทรงดันพระอนุชาเข้าไปในห้องเรียนรัชกาลที่ ๙ จึงเป็นผู้ริเริ่ม เมื่อเรียนไปแล้ว ๒-๓ ครั้ง รัชกาลที่ ๘ ทรงซื้อแคลริเน็ต (clarinet) ส่วนพระองค์ วันเรียน ครูสอนองค์ละ ๓๐ นาที แล้วครูก็เอาแซกโซโฟน (saxophone) ของเขาออกมาและเล่นด้วยกันทั้ง ๓ เป็น Trio”
ครูสอนดนตรี ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าไว้นี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในบทพระราชนิพนธ์ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาดนตรี” เช่นกัน มีความว่า
“....ครูสอนดนตรีชื่อนายเวย์เบรชท์ (Weybrecht) เป็นชาวอัลซาส (Alsace) ซึ่งเป็นแคว้นของฝรั่งเศสที่พูดภาษาเยอรมัน เวลาพูดภาษาฝรั่งเศสยังมีสำเนียงภาษาเยอรมันติดมาบ้าง นายเวย์เบรชท์ทำงานอยู่ร้านขายเครื่องดนตรี (ขายทุก ๆ ยี่ห้อ) และยังเป็นนักเป่าแซกโซโฟนอยู่ในวงของสถานีวิทยุ เขาเล่นดนตรีได้หลายอย่าง รวมทั้งแคลริเน็ตด้วย...นอกจากการเล่นดนตรีแล้ว ครูยังสอนวิชาการดนตรีให้ด้วย รวมทั้งการเขียนโน้ตสากลต่าง ๆ ”
ในบทพระราชนิพนธ์ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาดนตรี” ยังทรงเล่าความเกี่ยวกับความสนพระราชหฤทัย ในการทรงศึกษาเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ ได้แก่ แตร เปียโน กีตาร์ และขลุ่ย ดังนี้
“...สำหรับแตรนั้นสนพระราชหฤทัยจึงไปเช่ามาเป็นแตรคอร์เน็ต อีกหลายปีจึงทรงซื้อเอง ดูเหมือนว่าแตรทรัมเป็ตเครื่องแรกที่ทรงซื้อ จะ เป็นแตรยี่ห้อเซลเมอร์ สั่งซื้อจากอังกฤษ แต่เป็นของฝรั่งเศส (เครื่องนี้พระราชทานวงสุนทราภรณ์ไป) จึงซื้อใหม่ยี่ห้อเซลเมอร์เหมือนกัน ครูเวย์เบรชท์บอกว่าแตรดีที่สุดคือยี่ห้อกูร์ตัว แต่ไม่ได้ทรงซื้อ...”
“… สำหรับเครื่องดนตรีต่างๆที่ทรงเล่น มีเปียโน ไม่เคยทรงเรียนจริงจังจากใคร เล่นเอาเอง ดูโน้ต เรียนวิธีประสานเสียง กีตาร์ ทรงเล่นเมื่อพระชนม์ราว ๑๖ พรรษา เพื่อนที่โรงเรียนเป็นรุ่นพี่อายุมากกว่าให้ยืมเล่น ภายหลังเอาไปคืน เขาเห็นว่าสนใจจึงให้เลย ขลุ่ย ทรงเล่นเมื่อพระชนม์ประมาณ ๑๖-๑๗ พรรษา เห็นว่าราคาไม่แพงนัก เล่นไม่ยาก นิ้วคล้ายๆแซกโซโฟน...ตอนหลังเคยเห็นทรงเล่นไวโอลินด้วย คิดว่าทรงเล่นเอาเองไม่มีครูสอนดนตรี …”
นอกจากจะทรงศึกษาวิชาดนตรีจากพระอาจารย์ชาวต่างประเทศในต่างประเทศ แต่เมื่อยังทรงพระเยาว์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงได้รับการแนะนำการดนตรีจาก พระเจนดุริยางค์ ชาวต่างชาติที่เข้ามารับราชการในประเทศไทย ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เช่นกันว่า
“...คุณพระเจนดุริยางค์ เป็นอีกท่านที่กราบบังคมแนะนำเกี่ยวกับดนตรี โปรดคุณพระเจนฯ มาก ทรงพิมพ์ตำราที่คุณพระเจน ฯ ประพันธ์ขึ้นทุกเล่ม ระหว่างการพิมพ์และตรวจปรู๊ฟได้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีมาก ส่วนไหนที่ไม่เข้าพระทัยก็มีรับสั่งถามคุณพระเจน ฯ เรื่องการพิมพ์หนังสือนี้ คุณแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังคนปัจจุบันทราบดี เพราะเป็นผู้ที่ทรงมอบหมายให้ดำเนินการ ได้ทราบว่าคุณพระเจน ฯ ก็ปรารภว่า ในด้านทฤษฎีไม่ทรงทราบมากนัก แต่ทำไมเคาะเสียงถูกต้องทุกที “
นอกจากทรงเล่นดนตรีแล้ว ยังทรงสอนดนตรีให้ผู้อื่นเล่นด้วย เคยเล่าพระราชทานว่า
“ได้สอนคนตาบอดเล่นดนตรี สอนลำบากเพราะเขาไม่เห็นท่าทาง เมื่อพยายามอธิบายจนเข้าใจสามารถเป่าออกมาเป็นเพลงไพเราะได้ หรือแม้แต่โน้ตเดียวในตอนแรก ดูสีหน้าเขาแสดงความพอใจและภูมิใจมาก”
ทรงแนะนำวิธีการเล่นดนตรีพระราชทานผู้อื่นที่มาเล่นดนตรีถวาย หรือเล่นร่วมวง ดูเหมือนจะเคยมีรับสั่งว่า การเล่นดนตรีทำให้เกิดความสามัคคีเป็นนักดนตรีเหมือนกัน ในส่วนที่ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนั้น ทรงเริ่มอย่างจริงจังเมื่อมีพระชนมายุ ๑๘ พรรษา ขณะเมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระอนุชาตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตพระนคร เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ ดังที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า จักรพันธ์เพ็ญศิริ บันทึกความไว้ดังนี้
“๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ เสด็จนิวัตสู่ประเทศไทยพร้อมสมเด็จพระอนุชา และสมเด็จพระราชชนนีประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ได้โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าในฐานะนักแต่งเพลงสมัครเล่น ได้นำโน้ตที่ได้แต่งไว้แล้วถวายทอดพระเนตร พระราชทานข้อแนะนำเกี่ยวกับการแต่งเพลงประเภทบลูส์ โดยทรงเปียโนสาธิตให้ฟัง และสมเด็จพระอนุชามาใส่คำร้อง เพลงแสงเทียน ยามเย็น สายฝน ตามลำดับ แต่เพลงยามเย็นและเพลงสายฝนได้นำออกสู่ประชาชนก่อนเพลงแสงเทียน โดยพระราชทานให้ออกบรรเลงในงานลีลาศที่สวนอัมพรโดยวงดนตรีของกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ควบคุมวงโดย เอื้อ สุนทรสนาน และออกอากาศทางวิทยุ กรมโฆษณาการเป็นประจำ เป็นที่ซาบซึ้ง และประทับใจพสกนิกรอย่างมาก....”
“..จากนั้นฉันก็แต่งขึ้นอีกเรื่อยๆ จนบัดนี้รวมทั้ง ๔๐ เพลง ในระยะเวลา ๒๐ ปี คิดเฉลี่ยปีละ ๒ เพลงที่ทำได้ก็เพราะได้รับ การ สนับสนุนจากนักดนตรี นักเพลงและนักร้อง รวมทั้งประชาชนผู้ฟังต่างก็แสดงความพอใจและความนิยมพอควร จึงเป็นกำลังใจให้แก่ฉันเรื่อยมา...”
เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงแล้วจึงใส่คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง ได้แก่ Echo, Still on My Mind, Old Fashioned Melody, No Moon และ Dream Island ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่คำร้องภาษาไทย ได้แก่ เพลงความฝันอันสูงสุด และเราสู้ นอกจากนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แต่งคำร้อง ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์หลายท่าน ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา นายศุภร ผลชีวิน นายจำนง ราชกิจ (จรัล บุณยรัตนพันธุ์) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เพลงพระราชนิพนธ์ ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๙-๒๕๓๘ มี ๔๘ เพลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้อย่างแตกฉานในทฤษฎีการประพันธ์ ทรงเป็นผู้นำในด้านการประพันธ์ทำนองเพลงสากลของเมืองไทย โดยทรงใส่คอร์ดดนตรีที่แปลกใหม่และซับซ้อนทำให้เกิดเสียงประสานที่เข้มข้นในดนตรี เมื่อประกอบกับลีลาจังหวะเต้นรำที่หลากหลาย ทำให้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงบรรเลงได้อย่างไพเราะหลายบท กลายเป็นเพลงอมตะของไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังทรงมีจินตนาการสร้างสรรค์ไม่ซ้ำแบบผู้ใด และแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา
เพลงพระราชนิพนธ์แต่ละเพลงนั้น ล้วนแสดงออกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าโดยถ้วนหน้า เช่น เพลงยามเย็น พระราชทานแก่สมาคมปราบวัณโรค เพื่อนำออกแสดงเก็บเงินบำรุงการกุศล เพลงใกล้รุ่ง บรรเลงเป็นปฐมฤกษ์ในงานของ สมาคมเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย เพลงยิ้มสู้ พระราชทานแก่โรงเรียนสอนคนตาบอด เพลงลมหนาว พระราชทานในงานประจำปี ของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ เพลงพรปีใหม่ พระราชทานแก่พสกนิกรเนื่องในวันปีใหม่ เพลงเกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย เพลงความฝันอันสูงสุด และเพลงเราสู้ พระราชทานแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ Kinari Suite พระราชทานเพื่อใช้ ประกอบการแสดงบัลเล่ต์ชุดมโนราห์ และมีเพลงประจำสถาบันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ได้แก่ เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ เพลงธรรมศาสตร์ เพลงเกษตรศาสตร์ เพลงธงไชยเฉลิมพล ราชวัลลภ และ ราชนาวิกโยธิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรวมนักดนตรีสมัครเล่น มารวมกันตั้งเป็นวงขึ้นเป็นครั้งแรก ขณะที่ทรงประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ประกอบด้วยพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ที่ทรงคุ้นเคย และเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง สถานีวิทยุ อ.ส. (อัมพรสถาน) ขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ เพื่อให้เป็นสื่อกลางที่ให้ความบันเทิงและสาระประโยชน์ในด้านต่างๆ พระราชทานชื่อว่า “วงลายคราม” ก็ได้มีการออกอากาศส่งวิทยุกระจายเสียงกับวงดนตรีต่างๆ ด้วย
ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้นักดนตรีรุ่นหนุ่มมาเล่นดนตรีร่วมกับวงลายคราม จึงเกิดเป็น วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ขึ้น วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์มีลักษณะพิเศษคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงร่วมบรรเลงกับสมาชิกของวง ออกอากาศกระจายเสียง ทางสถานีวิทยุประจำวันศุกร์ และยังทรงจัดรายการเพลงเอง ทรงเลือกแผ่นเสียงเองในระยะแรก บางครั้งก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการขอเพลง และจะทรงรับโทรศัพท์ด้วยพระองค์เอง
วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ยังเป็นวงดนตรีที่โปรดให้ไปร่วมบรรเลงในงาน “วันทรงดนตรี” ตามที่มหาวิทยาลัยต่างๆ กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ เพื่อทรงสังสรรค์ร่วมกับนิสิตนักศึกษา เป็นการส่วนพระองค์ ก่อนที่จะยกเลิกไป เพราะทรงมีพระราชกรณียกิจเพิ่มมากขึ้น
ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งแตรวง “สหายพัฒนา” ขึ้นอีกวงหนึ่ง โดยโปรดเกล้าฯให้รวบรวม ผู้ปฏิบัติราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และโดยเสด็จฯในการพัฒนาภูมิภาคต่าง ๆ เป็นประจำ เช่น นักเกษตรหลวง คณะแพทย์อาสาสมัคร ข้าราชการในพระองค์ ราชองค์รักษ์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน พระราชทานเวลาฝึกสอนในช่วงเวลาทรงออกพระกำลังในตอนค่ำของทุกๆวัน ทรงตั้งแตรวงขึ้นสำเร็จ และยังคงซ้อมดนตรีเป็นประจำ ทุกค่ำของวันศุกร์ และวันอาทิตย์ ร่วมกับ นักดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ณ สถานี อ.ส.เกือบทุกเย็น กับวงสหายพัฒนา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา จนถึงปัจจุบัน
พระปรีชาสามารถในการทรงดนตรีของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ประจักษ์ในนานาประเทศ ดังที่จะเห็นจากการที่ทรงเข้าร่วมบรรเลงดนตรีกับวงดนตรีของประเทศต่าง ๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินเยือน ไม่ว่าวงดนตรีนั้น ๆ จะมีการเล่นดนตรีในแบบใด โดยมิได้ทรงเตรียมพระองค์มาก่อน นักดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลกล้วนถวายการยกย่องพระองค์ในฐานะทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สผู้มีอัจฉริยภาพสูงส่ง ดังเช่น เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประเทศออสเตรีย เมื่อเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗ ประธานสถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นสมาชิกหมายเลข ๒๓ ซึ่งผู้ที่จะได้รับเกียรติ เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์แห่งสถาบันนี้ได้ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอาชีพและผลงานด้านดนตรีและศิลปะดีเด่นเป็นที่ยอมรับของชาวโลกทั้งสิ้น
ด้านการดนตรีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงละเลยดนตรีไทย อันเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ ได้มีพระราชดำริให้มีการรวบรวมเพลงไทยเดิมขึ้นไว้ แล้วบันทึกโน้ตเพลงไทยเดิมขึ้นเป็นหลักฐาน เพื่อที่จะได้พิมพ์เผยแพร่วิชาการดนตรีไทยในหมู่ประชาชนต่อไป ทรงริเริ่มให้มีการวิจัยเกี่ยวกับดนตรีไทยประเภทต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังทรงได้ ริเริ่มให้นำเพลงสากลมาแต่งเป็นแนวเพลงไทย โดยโปรดเกล้าฯ ให้นาย เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นำทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ มหาจุฬาลงกรณ์ มาแต่งเป็นแนวไทย บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ เพื่อนำขึ้นบรรเลงถวายแล้วก็พระราชทานชื่อว่า เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ เช่นเดียวกัน นับเป็นเพลงไทยเพลงแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นจากเพลงไทยสากล ตามพระราชดำริที่ทรงสร้างสรรค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับดนตรีแก่นักข่าวชาวอเมริกันในรายการเสียงแห่งวิทยุอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๐๓ ความตอนหนึ่งว่า
“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคนเป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้าดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภทเพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่างๆกันออกไป”
ทรงเห็นว่า ดนตรี นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว ควรจะเป็นสื่อสร้างสรรค์ชักนำให้คนเป็นคนดีของประเทศชาติและสังคม ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔ มีความตอนหนึ่งดังนี้
“...การดนตรีจึงมีความหมายสำคัญสำหรับประเทศชาติสำหรับสังคม ถ้าทำดี ๆ ก็ทำให้คนเขามีกำลังใจจะปฏิบัติงานการก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ทำให้คนที่กำลังท้อใจมีกำลังใจขึ้นมาได้ คือเร้าใจได้ คนกำลังไปทางหนึ่งทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะดึงกลับมาในทางที่ถูกต้องได้ ฉะนั้น ดนตรีก็มีความสำคัญอย่างหนึ่ง จึงพูดได้กับท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการดนตรีในรูปการณ์ต่าง ๆ ว่า มีความสำคัญและต้องทำให้ถูกต้องต้องทำให้ดี ถูกต้องในทางหลักวิชาการดนตรีอย่างหนึ่ง และก็ถูกต้องตามหลักวิชาของผู้ที่มีศีลธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวมทั้งส่วนตัว เพราะก็อย่างที่กล่าวว่าเพลงนี้มันเกิดความปีติภายในของตัวเองได้ ความปีติในผู้อื่นได้ ก็เกิดความดีได้ความเสียก็ได้ ฉะนั้นก็ต้องมีความระมัดระวังให้ดี...”