4 ก.ค.วันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ศาสตราจารย์ พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500) พระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และเป็นพระขนิษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิตสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ
พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานดีเด่นของโลกในสาขาสารเคมีก่อมะเร็ง และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ปัจจุบันทรงเป็นองค์ประธานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็ง และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หนึ่งในพระกรณียกิจที่สำคัญ
ด้วยทรงตระหนักถึงปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุข และความเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์ เรื่องการ ขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์ และการสาธารณสุขโดยเฉพาะ ความต้องการการสนับสนุนเรื่องการศึกษาวิจัยทางวิชาการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการสาธารณสุข จึงทรงก่อตั้งกองทุนจุฬาภรณ์ขึ้น และต่อมาได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิจุฬาภรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย
ต่อมาทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ขึ้น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ทรงเป็นองค์ประธานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ ส่งเสริมความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัย ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และสังคมศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและพัฒนาบุคลากรสาขาวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งระดมสติปัญญาของนักวิชาการที่มีศักยภาพและวิทยาการที่ก้าวหน้า เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และให้การศึกษาและฝึกอบรมอย่างครบวงจร ประกอบกับแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ให้ขยายภารกิจด้านการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสาขาที่มีความต้องการสูงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้มีการเสนอโครงการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2548
และจากการที่ทรงรับเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติ การเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็งด้วยพระองค์เอง ประกอบกับทรงพบว่าประชาชนชาวไทยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มในอัตราที่สูงมากขึ้น จึงทรงก่อตั้งศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม และให้เป็นศูนย์วิจัยด้านโรคมะเร็งที่มีความเป็นเลิศทางการวิจัย วิชาการ และการบำบัดรักษา พร้อมทั้งพัฒนาเป็นศูนย์ชำนาญการวินิจฉัยมะเร็งที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค โดยมีงานวิจัยที่ได้มาตรฐานสากลรองรับ
นอกจากนี้ ยังทรงจัดตั้งศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ(Cyclotron and PET Scan) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการในการตรวจโดยสารเภสัชรังสี เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่สามารถติดตาม ตรวจวัด ประเมิน และวิเคราะห์ การทำหน้าที่ของอวัยวะนั้นๆ ในระดับเซลล์เมตาบอลิสม์ ที่สามารถให้รายละเอียดการวินิจฉัยโรคและระยะของโรคได้ดีกว่าการตรวจอย่างอื่น ซึ่งมีประโยชน์เป็นอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โรคทางสมอง และหัวใจ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ทรงเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีพระปณิธานแน่วแน่ในการสร้างเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมให้แก่ทรัพยากรบุคคลของประเทศไทย และให้ความช่วยเหลือ ฝึกอบรมแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนา โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ
นอกจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะทรงได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติในพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว พระองค์ยังทรงนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นกิจการด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย งานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การจัดการป่าไม้ การจัดการสิ่งแวดล้อม การเพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลรวมไปถึงงานส่งเสริมสถานภาพทางสังคมของสตรีไทยอีกด้วย
พระเกียรติคุณ ในระดับนานาชาติ
พ.ศ. 2529 - เหรียญทองคำอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเพื่อเชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์ที่เป็นบุคคลตัวอย่างทางวิชาการ และการส่งเสริมงานด้านวิทยาศาสตร์ ทรงเป็นบุคคลที่ 3 ในโลกและเป็นนักวิทยาศาสตร์สตรีพระองค์แรกของโลกที่ได้รับรางวัลนี้
พ.ศ. 2533 - รางวัล Tree of Learning
โดย The World Conservation Union ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อเป็นการยกย่องที่ทางทำคุณประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโลก โดยการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและสิ่งแวดล้อม ให้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาแบบยั่งยืน
พ.ศ. 2547 - รางวัล EMS Hollaender International Award
จากผลของการทรงงานอย่างต่อเนื่อง จึงทรงเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องในแวดวงวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมนานาชาติ คณะกรรมการรางวัลฮอลแลนเดอร์ จึงมีมติเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล ในฐานะที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานดีเด่นของโลกในสาขาสารเคมีก่อมะเร็งและพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม และทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับประจำ ปี ค.ศ. 2002
พ.ศ. 2547 - รางวัลสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก
โดยสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก (IUCN The World Conservation Union) สวิตเซอร์แลนด์
พ.ศ. 2549 - รางวัล IFCS Special Recognition
โดย Intergovernmental Forum on Chemical Safety (IFCS) เป็นรางวัลสำหรับนักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานดีเด่น ด้านการสนับสนุนให้เกิดความปลอดภัยของสารเคมีแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในภูมิภาค
พ.ศ. 2549 - รางวัล Nagoyal Medal Special Award
เป็นรางวัลที่มอบให้บุคคลด้านวิทยาศาสตร์ผู้มีบทบาทสำคัญและทำคุณประโยชน์อย่างสูงแก่วงการอินทรีย์เคมี ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลจากมหาวิทยาลัยนาโกยา เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น
พ.ศ. 2552 - รางวัล Windaus Medal ด้านอินทรีย์เคมี
โดย Georg-August-Universität Göttingen และสมาคมเคมีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในโอกาสการจัดสัมมนา "Adolf-Windaus-Genachtnis-Lecture" ประจำปี 2009 ในฐานที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่นอกจากมีผลงานวิจัยและงานวิชาการในด้านอินทรีย์เคมี แล้วยังทรงพัฒนาและสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าของสาขาวิชานี้อย่างมาก
พ.ศ. 2552 - รางวัล Ramazzini Award ด้านเวชศาสตร์อาชีวะและสิ่งแวดล้อม
โดย Collegium Ramazzini สาธารณรัฐอิตาลี โดยมอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติที่มีผลงานโดดเด่นทั้งด้านงานวิจัย วิชาการด้านเวชศาสตร์อาชีวะ และสิ่งแวดล้อม ที่มีผ่านมีผู้ได้รับรางวัลแล้ว 32 คน ซึ่งในโอกาสนี้ทรงปาฐกถาให้หัวข้อ "Cancer Risk from Exposure to Air Pollution"
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ