ฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วันเสาร์ที่ 30 กันยายน 2560 เวลา 16.20 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปีการศึกษา 2559 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เป็นวันแรก โดยทรงมีพระโอวาทพระราชทานบัณฑิต ให้มุ่งทำประโยชน์ให้ส่วนรวมเพราะจะยังผลให้ตนเองได้รับความรุ่งเรืองด้วย ทั้งนี้ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปีการศึกษา 2559 จะจัดขึ้น 3 วัน ระหว่างวันที่ 30 กันยายน – 2 ตุลรคม 2560
ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กราบทูลรายงานกิจการมหาวิทยาลัย ว่า ในรอบปีการศึกษา 2559 เป็นปีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สถาปนามาย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 ด้วยความมุ่งมั่นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยเพื่อนวัตกรรมและสังคมที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ และมุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำ 1 ใน 5 ของอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2579 ตามแผนพัฒนาระยะ 20 ปี เพื่อความเป็นผู้นำทางวิชาการและนวัตกรรม มีการวิจัยเป็นฐาน เพื่อการพัฒนาประเทศ เชื่อมโยงสู่สังคมและเครือข่ายสากล บนพื้นฐาน พหุวัฒนธรรม และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ผู้ใฝ่รู้ได้มีโอกาสเข้าถึงความรู้ได้หลากหลายรูปแบบ และสร้างบัณฑิตที่มีสมรรถนะทางวิชาการและวิชาชีพ มีจิตสาธารณะ สามารถประยุกต์ความรู้บนพื้นฐานประสบการณ์จากการปฏิบัติ
ในปีการศึกษา 2559 มหาวิทยาลัยมีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษา และมีสิทธิเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรประมาณจำนวน 8,632 คน แบ่งเป็นระดับปริญญาเอก 138 คน ปริญญาโท 852 คน และปริญญาตรี 7,642 คน
รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กราบทูลราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อม) ด้วยทรงมุ่งที่จะสร้างความยั่งยืนให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของราษฎร ทรงเล็งเห็นการณ์ไกลที่จะต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนั้น ได้ทรงเรียนรู้เทคโนโลยีและศาสตร์ใหม่ ๆ ด้วยพระองค์เอง โดยเฉพาะการศึกษาเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล หรือ remote sensing ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเพิ่มผลผลิตและสร้างความยั่งยืนทางการเกษตร พื้นที่ป่าไม้ การบริหารแหล่งน้ำ การสำรวจทางธรณีวิทยา การแหล่งแร่และน้ำมันปิโตรเลี่ยม การทำแผนที่ การใช้ที่ดิน การวางแผนสำหรับการพัฒนาเมืองและชนบท ประชากรศาสตร์ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
จากนั้น ได้พระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยียาง แก่ Professor Dr. Norbert Vennemann ปริญญาการแพทย์แผนไทยมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่นายประวิทย์ แก้วทอง และ พระราชทานโล่เกียรติยศ อาจารย์ตัวอย่างด้านการเรียนการสอน แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปาริชาติ มณีมัย คณะพาณิชศาสตร์และการจัดการ
สำหรับพิธีในวันที่ 30 กันยายน 2560 มีผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวน 2,668 คน จาก บัณฑิตวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะการแพทย์แผนไทย คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ คณะการบริการและการท่องเที่ยว คณะวิเทศศึกษา คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
หลังจากนั้น ได้มีพระโอวาทความว่า การที่จะสร้างสรรค์ความสำเร็จในงานได้ยั่งยืนเพียงใด ขึ้นอยู่กับการประพฤติตน และการปฎิบัติงานของแต่ละคนเป็นสำคัญ หากบัณฑิตรู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม มีความขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริต และมุ่งประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนแล้ว สังคมส่วนรวมก็จะมีความเจริญมั่นคง และจะส่งผลให้บัณฑิตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้รับความเจริญรุ่งเรืองด้วย