ตามรอยเสด็จฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จากหาดใหญ่สู่มาเลเซีย
ตามรอยเสด็จฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จากหาดใหญ่สู่มาเลเซีย
กรุงเทพ, 23 ตุลาคม 2560: ตลอดเกือบหนึ่งปีเต็มหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปวงชนชาวไทยทั้งผองยังไม่คลายจากความโศกเศร้าต่อการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้ การท่องเที่ยวมาเลเซียประจำประเทศไทย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ จึงขอนำเสนอการเดินทางตามรอยเสด็จฯ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านที่พระองค์เสด็จเยือน และสร้างคุณูปการอเนกอนันต์แก่ประชาชนทั้งสองประเทศ เพื่อให้ชาวไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งมิได้เป็นเพียงพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่ยังเป็นนักการทูตที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย โดยการเดินทางตามรอยเสด็จฯ นี้เป็นการเดินทางด้วยรถไฟจากจุดเริ่มต้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และเดินทางต่อไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ ในประเทศมาเลเซีย ที่พระองค์เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือน และยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความทรงจำที่ประชาชนทั้งสองประเทศไม่อาจลืมเลือน
สถานีรถไฟบัตเตอร์เวอร์ธ รัฐปีนัง
จากสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่มุ่งหน้าตรงไปสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ จากนั้นต่อขบวนรถไฟฟ้าด่วน ETS ที่สถานีปาดังเบซาร์เพื่อเดินทางต่อไปยังสถานีรถไฟบัตเตอร์เวอร์ธ รัฐปีนัง ที่ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเคยทรงแวะพักเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อ้างอิงจากพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงพระนิพนธ์ถึงการเดินทางไปประทับต่างแดนในระยะยาวของราชสกุล “มหิดล” ว่า “น้องชายคนโตไม่แข็งแรง แม่เลยคิดว่าควรไปอยู่ต่างประเทศที่มีอากาศสบายๆ เสด็จลุงทรงแนะให้ไปสวิตเซอร์แลนด์ ...ต้นเดือนเมษายน 2476 แม่กับลูกสามคน พร้อมแหนนและบุญเรือน ก็ออกเดินทางด้วยรถไฟไปปีนัง แล้วลงเรืออเมริกันเพรสซิเดนต์เพียร์ซ ไปขึ้นที่เจนัว และต่อรถไฟไปโลซานน์ ...” ปีนังจึงนับเป็นสถานที่แห่งแรกในมาเลเซียที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเคยเสด็จพระราชดำเนินเยือน
วัดไชยมังคลาราม รัฐปีนัง
จากสถานีรถไฟบัตเตอร์เวอร์ธ นั่งเรือเฟอร์รี่ข้ามไปยังเกาะปีนัง เพื่อชมเมืองที่เต็มไปด้วยศิลปะ วัฒนธรรม และจุดหมายปลายทางสำคัญที่จะพลาดไม่ได้คือ วัดไชยมังคลาราม ซึ่งเป็นวัดไทยที่เก่าแก่ที่สุดในปีนัง สร้างราวปีพุทธศักราช 2388 และมีพระพุทธไสยาสน์ที่ยาวที่สุดในมาเลเซีย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนวัดอันเป็นสายใยเชื่อมโยงไทย-มาเลเซียแห่งนี้ ทรงประกอบพิธีเปิด (ไหมคลุม) ดวงเนตรพระพุทธรูปปางไสยาสน์ และพระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า “พุทธชัยมงคล” และพระราชทานย่ามแก่พระภิกษุ 20 รูป พร้อมทั้งทรงบริจาคเงินบำรุงพระอาราม ซึ่งการเสด็จฯ เยือนครั้งนี้ยังคงถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของประชาชนในปีนังเรื่อยมาตราบจนถึงปัจจุบัน
ภาพข่าว : วัดพระเชตวัน รัฐสลังงอร์ วัดที่รัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลมาเลเซียสร้างขึ้น ในปี 2493 ด้วยเงินบริจาคที่มาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเสด็จฯ มาทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าของวัดแห่งนี้ด้วยพระองค์เอง เมื่อปี 2505 วัดเชตวันเป็นวัดไทยแห่งเดียวในมาเลเซีย ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประดับตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ซึ่งเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ไว้ที่บนช่อฟ้า
วัดพระเชตวัน รัฐสลังงอร์
จากปีนังเดินทางต่อมายังรัฐสลังงอร์ด้วยรถไฟ เพื่อเยี่ยมชมวัดพระเชตวัน วัดที่รัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลมาเลเซียสร้างขึ้น ในปี 2493 ด้วยเงินบริจาคที่มาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเสด็จฯ มาทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าของวัดแห่งนี้ด้วยพระองค์เอง เมื่อปี 2505 ยังความซาบซึ้งและปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้ให้แก่ทั้งรัฐบาลมาเลเซียและพสกนิกรชาวไทยซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่ อีกทั้งพระองค์มีรับสั่งให้วัดเชตวันเป็นวัดไทยแห่งเดียวในมาเลเซีย ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประดับตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ซึ่งเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ไว้ที่บนช่อฟ้าด้วย
มหาวิทยาลัยมาลายา กัวลาลัมเปอร์
จากรัฐสลังงอร์นั่งรถไฟต่อไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนเป็นครั้งแรกในปี 2505 ทรงได้รับการต้อนรับจากพระราชาธิบดีอย่างสมพระเกียรติ พร้อมทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดแด่ในหลวงของเราด้วย ในการเสด็จฯ เยือนสหพันธรัฐมาลายาหรือมาเลเซียในปัจจุบัน พระองค์ทรงเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยมาลายา มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในมาเลเซีย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากยุคอาณานิคม ที่ประเทศอังกฤษเข้ามามีส่วนร่วมในการวางรากฐานทางการศึกษา ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมาลายาติดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของอาเซียน และยังขึ้นชื่อในเรื่องการเป็นศูนย์เรียนรู้และวิจัยด้านเอเชียแปซิฟิกของภูมิภาคอีกด้วย
ที่ราบสูงคาเมรอน รัฐปาหัง
เดินทางต่อจากกรุงกัวลาลัมเปอร์อีกเพียง 200 กิโลเมตรก็จะถึงรัฐปาหัง อีกรัฐแห่งความทรงจำที่ชาวไทยไม่ควรลืม เพราะตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ของการเสด็จฯ เยือนประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2505 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระนางเจ้าสิริกิติ์ได้เสด็จไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ รวมถึงที่ราบสูงแคเมอรอน ที่ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงเลือกประทับ ณ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งนี้ ที่ราบสูงแคเมอรอน หรือ Cameron Highlands เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติชื่อดังของประเทศมาเลเซีย อยู่เหนือระดับน้ำทะเลราว 1,524 เมตร มีทัศนียภาพที่งดงามจากหุบเขาที่เรียงตัวสลับซับซ้อน และหมู่บ้านที่ปกคลุมไปด้วยไอหมอก ด้วยสภาพภูมิอากาศและดินที่ดี คาเมรอน ไฮแลนด์ จึงเป็นแหล่งปลูกพืชผักเมืองหนาวชั้นนำของมาเลเซีย ที่นักท่องเที่ยวสามารถศึกษาหาความรู้ในเชิงเกษตร และยังผ่อนคลายไปกับ ไร่ชา ไร่สตอเบอรี่ หมู่บ้านสไตล์อังกฤษ และสวนดอกไม้นานาพันธุ์อีกด้วย
การท่องเที่ยวมาเลเซียมุ่งหวังว่าการเดินทางตามรอยเสด็จฯ นี้จะช่วยให้ปวงชนชาวไทยได้น้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้ทรงเชื่อมสัมพันธไมตรีของทั้งสองประเทศไว้อย่างแน่นแฟ้น และที่สำคัญเราอยากให้สถานที่แห่งประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้ช่วยคลายความเศร้าโศกของชาวไทยลงไปบ้างไม่มากก็น้อย
“เมื่อน้อมระลึกถึงพระองค์ท่าน มาร่วมออกเดินทางตามรอยพระยุคลบาทไปในที่ที่พระองค์ท่านเคยเสด็จพระราชดำเนิน สักครั้งในชีวิต”
ภาพข่าว : วัดไชยมังคลาราม รัฐปีนัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนวัดอันเป็นสายใยเชื่อมโยงไทย-มาเลเซียแห่งนี้ ทรงประกอบพิธีเปิด (ไหมคลุม) ดวงเนตรพระพุทธรูปปางไสยาสน์ และพระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า “พุทธชัยมงคล”
ภาพข่าว : มหาวิทยาลัยมาลายา กัวลาลัมเปอร์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยมาลายา มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในมาเลเซีย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมาลายาติดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของอาเซียน และยังขึ้นชื่อในเรื่องการเป็นศูนย์เรียนรู้และวิจัยด้านเอเชียแปซิฟิกของภูมิภาค
ข้อมูลจากการท่องเที่ยวมาเลเซีย