7 สิงหาคม วันรำลึกพระบิดาแห่งกฎหมายไทย


7 ส.ค. 2561

7 สิงหาคม วันรำลึกพระบิดาแห่งกฎหมายไทย

95.jpg
วันรพี สำหรับผู้ที่มีความสนใจทางด้านกฎหมาย จะต้องรู้จักเป็นอย่างดี กับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งได้ถูกยกย่องเป็นพระบิดาแห่งกฎหมายไทย

พระองค์ท่านมีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรส พระองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประสูติเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2417

พระองค์ทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ และเลือกวิชาเอกคือวิชากฎหมาย โดยเนื่องจากช่วงนั้น เมืองไทยมีศาลกงสุลจากชาติตะวันตกค่อนข้างมาก ซึ่งพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าจะเป็นการดี ที่จะศึกษาถึงกฎหมายต่างๆ อีกทั้งทรงพยายามขอยกเลิกอำนาจศาลกงสุลต่างๆ ที่มาพิจารณาคดีของชนชาติตนเอง เพื่อให้ประเทศไทยมีเอกราชทางด้านการศาลอย่างแท้จริง

พระองค์ได้เจ้าศึกษาวิชากฎหมายที่วิทยาลัยไครส์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออฟซ์ฟอร์ด ซึ่งในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง 17 พรรษา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยกำหนดให้ต้องมีพระชนมายุไม่ต่ำกว่า 18 พรรษา จึงจะสามารถเข้ารับการศึกษาได้ แต่พระองค์ทรงขอความกรุณา อีกทั้งยังดำรัสว่า “คนไทยเกิดง่าย ตายเร็ว” ทางมหาวิทยาลัยจึงยอมผ่อนผันให้รับการศึกษาต่อไปได้

และด้วยพระองค์ทรงพระวิริยะอุตสาหะเอาพระทัยทางด้านการเรียนเป็นอย่างมาก ทรงได้รับปริญญาบัตรเกียรตินิยมทางกฎหมาย Bachelor of Arts.Hons เมื่อพระชนมายุเพียง 20 พรรษา โดยใช้เวลาเพียง 3 ปี 

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเริ่มรับราชการในสำนักราชเลขาธิการ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี ทรงประกอบพระกรณียกิจ อันเป็นคุณประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อวงการกฎหมายไทย และศาลสถิตยุติธรรม ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และสภานายกในกองข้าหลวงพิเศษ จัดการปรับปรุงศาลยุติธรรมสู่ระบบใหม่ จัดตั้งศาลมณฑล และศาลจังหวัด ทั่วประเทศ, ทรงเป็นประธานกรรมการตรวจชำระกฎหมาย ประมวลขึ้นเป็นกฎหมายอาญาฉบับ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451)

ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายเพื่อเปิดการสอนกฎหมาย ทรงรวบรวมและแต่งตำราคำอธิบายกฎหมายลักษณะต่าง ๆ มากมาย และทรงสอนวิชากฎหมายด้วยพระองค์เอง, ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกาซึ่งเทียบได้กับศาลฎีกาในปัจจุบัน, เมื่อ พ.ศ. 2443 ทรงตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้น สำหรับตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาในคดีอาญา ตำแหน่งสุดท้ายทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ทรงปรับปรุงกิจการกรมทะเบียนที่ดิน

ในปี พ.ศ. 2462 พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ประชวรด้วยพระโรคที่ต่อมลูกหมากและมีการแทรกซ้อนต่อไปยังพระวักกะ (ไต) จึงทรงขอลาพักราชการในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 เพื่อรักษาพระองค์แต่อาการยังไม่ทุเลา ต่อมาจึงเสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่พระโรคที่พระวักกะก็ยังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเกินที่แพทย์จะเยียวยาได้ จนกระทั่งถึงวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา จึงสิ้นพระชนม์ สิริพระชันษา 45 ปี 9 เดือน 17 วัน