ม.อ.ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาเภสัชศาสตร์แด่สมเด็จพระเทพฯ และปริญญาศิลปกรรมศาสตร์แด่เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำหนดจัดให้มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปีการศึกษา 2560 ระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน 2561 เวลา 16.00 น. ที่ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2560 โดยในปีนี้มีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาและมีสิทธิ์เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวน 9,255 คน
ในปีนี้ มหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และถวายปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี นอกจากนั้นสภามหาวิทยาลัยได้มีมติอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 ท่าน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ปริญญาเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านเภสัชศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเภสัชพฤกษศาสตร์ ทรงมีแนวคิดก้าวไกลในการอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพร ทรงส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช ทรงมีพระวิสัยทัศน์เชิงวิชาการอันลึกซึ้ง ต่อการคุ้มครองความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช พระราชดำริและพระราชกรณียกิจในการอนุรักษ์และพัฒนาดังกล่าวนั้นมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการเภสัชพฤกษศาสตร์ของไทย เนื่องด้วยพืชเป็นหนึ่งในแหล่งสมุนไพรที่ใช้รักษาโรค บรรเทาอาการเจ็บไข้ตามภูมิปัญญาของบรรพชน และเป็นแหล่งในการศึกษาวิจัย ค้นหาสารพฤกษเคมีที่มีศักยภาพเป็นยา เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ต่อไป รวมทั้งพระราชทาน แนวพระราชดำริในการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านศิลปกรรมศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งด้านดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ และด้านกวีวรรณศิลป์ รวมถึงการผสานองค์ความรู้ด้านศิลปกรรมศาสตร์กับศาสตร์อื่น ๆ การเชิดชูศิลปะและวัฒนธรรมของผู้คนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทรงมีพระปรีชาสามารถในการบรรเลงเครื่องดนตรีหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กู่เจิง” อันเป็นเครื่องดนตรีโบราณของจีน ทรงมุ่งมั่น ตั้งพระทัยฝึกซ้อมกู่เจิงด้วยพระวิรยะอุตสาหะจนทรงมีความชำนาญ ด้านการออกแบบและทัศนศิลป์ ทรงสร้างสรรค์เครื่องประดับเพื่อจัดหาทุนทรัพย์ในการช่วยเหลือพสกนิกร เช่น โครงการ “ถักร้อย สร้อยรัก” ที่ทรงออกแบบและเรียงร้อยสร้อยประดับมุกด้วยพระวิริยะอุตสาหะ นำรายได้จากการจำหน่ายจากผู้มีจิตศรัทธาไปช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งผู้ยากไร้ รวมทั้งได้มีพระดำริให้จัดทำโครงการ “ดร.น้ำจิต” จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อหารายได้การกุศลสมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์
ผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2561
นางชมัยภร แสงกระจ่าง บางคมบาง
ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย ประเภททั่วไป
นางชมัยภร แสงกระจ่าง บางคมบาง ได้สร้างสรรค์งานประพันธ์หลากหลายประเภททั้งบทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี สาระนิยาย ตลอดเวลา 40 ปี มีผลงานรวมเล่ม 90 เล่ม นอกจากนี้ยังสร้างสรรค์งานวิจัย และผลงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งทั้งทางการศึกษา ศาสนา สังคม และวัฒนธรรม เป็นที่ยอมรับทั้งในวงการวรรณกรรม วงการวิชาการ และวงการวัฒนธรรม เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการศึกษาวิจัยและเผยแพร่ภาษาไทย รวมทั้งวัฒนธรรมทางด้านภาษาไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ผลงานของท่าน ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาตามประกาศ กระทรวงศึกษาธิการ และของสถาบันการศึกษาหลายสถาบัน ได้รับเชิญเป็นวิทยากร อาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาหลายแห่งในเมืองไทย เป็นแบบอย่างและเป็นพลังผลักดันอยู่เบื้องหลังให้เกิดนักเขียนและ นักวิจารณ์ประดับในวงการวรรณกรรมและวิชาการของประเทศอย่าง
ศาสตราจารย์พิเศษประสพสุข บุญเดช
นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภททั่วไป
ศาสตราจารย์พิเศษประสพสุข บุญเดช เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมของ นักกฎหมาย เป็นแบบอย่างการครองตนอยู่ในเกียรติของวิชาชีพจนได้รับการยอมรับนับถือ ทั้งในวงการนิติศาสตร์และในสังคมทั่วไป ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างคุณูปการต่อประเทศชาติในงานด้านตุลาการ การนิติบัญญัติ และการศึกษากฎหมาย เป็นผู้มีความรู้ลึกซึ้งทั้งในภาควิชาการและในภาคปฏิบัติ โดยมีผลงานทางวิชาการทั้งที่เป็นบทความซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือดุลพาหและหนังสือบทบัณฑิตย์ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหลายปี ผลงานสำคัญคือตำราคำอธิบายกฎหมายครอบครัวซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงการวิชาการด้านนิติศาสตร์ว่ามีความละเอียดลึกซึ้ง เป็นตำรากฎหมายครอบครัวที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง นอกจากนี้ ยังอุทิศตนในการทำหน้าที่ “ครูสอนกฎหมาย” ในสถาบันต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน ทำให้ได้รับความเคารพอย่างสูงจากนิสิตนักศึกษาและบุคลากรในวงการกฎหมายโดยทั่วไป
รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ
วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภททั่วไป
รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อวงการศึกษาของไทย เป็นผู้ริเริ่มการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่มีการบูรณาการศาสตร์และผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะการคิดอย่างเป็นระบบให้กับนักศึกษา และให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรและระบบประกันคุณภาพการศึกษา เป็นประธานและกรรมการที่เกี่ยวกับการศึกษาของชาติและนานาชาติหลายคณะ มีส่วนริเริ่มโครงการที่สำคัญหลายโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ โครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน (การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม) เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนในกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วมว.) เป็นผู้เสนอชื่อและสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการในฐานะผู้แทนจากสถาบันการศึกษา ให้เป็นศูนย์ประสานงานเครือข่าย อพ.สธ. ภาคใต้ เพื่อให้เป็นผู้แทนพระองค์ในการดำเนินงานให้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภาคใต้
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ
วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภททั่วไป
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล โดยก่อตั้งบริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนา อ้อยและน้ำตาล จำกัด ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาลครบวงจรแห่งแรกของไทย เป็นบุคคลต้นแบบให้แก่สังคม ทั้งการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ โดยมี ปรัชญาในด้านธุรกิจคือมุ่งสู่ความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน ตั้งอยู่ในความเป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ ต่อสังคม เป็นผู้ประกอบการที่เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและธุรกิจระหว่างประเทศจนได้รับตำแหน่งและรางวัลอันทรงเกียรติหลายรางวัล ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีส่วนในการส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวกในการฝึกงาน ฝึกอบรม ปฏิบัติฝึกงานสหกิจ การจัดข้อมูลเพื่อทำกรณีศึกษาพิเศษ และการศึกษาดูงานภาคสนามสำหรับบุคลากรและนักศึกษา สนับสนุนด้านสถานที่และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่เพื่อดำเนินโครงการวิจัยที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์