สูญเสียครั้งใหญ่ สิ้นพระเทพญาณโมลี หรืออาจารย์ผัน วัดทรายขาว ผู้ผลักดันสร้างพุทธมณฑลสงขลา
น้อมถวายความอาลัย พระเทพญาณโมลี (ผัน ปสนฺโน) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสงขลา อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๘ อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายขาว ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งได้ถึงแก่มรณภาพ ด้วยอาการสงบในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ส่วนกำหนดการประกอบพิธีฌาปนกิจจะแจ้งให้ทราบต่อไป
ประวัติพระเทพญาณโมลี เจ้าคณะจังหวัดสงขลาและเจ้าอาวาสวัดทรายขาว จาก www.bankaonews.com
1. ชาติภูมิ
พระเทพญาณโมลี ฉายา ปสนฺโน นามเดิม ผัน นามสกุล ทองอร่าม อายุ 85 ปี พรรษา 65 เป็นบุตรของนายแอ และนางเขียว ทองอร่าม เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2476 ณ บ้านเลขที่ 58 หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
2. การศึกษา
พ.ศ. 2490 สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดทรายขาว ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา
พ.ศ. 2503 สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนวัดเลียบ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา
พ.ศ. 2503 สอบไล่เปรียญธรรมได้ ประโยค 1-2 จากสำนักเรียนวัดคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
พ.ศ. 2538 รับการถวายปริญญาโท พุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พธ.ม.) จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2550 รับการถวายปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
พ.ศ. 2551 รับการถวายปริญญาเอก การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยทักษิณ
3. อุปสมบท
วันที่ 17 เดือนมิถุนายน 2497 ณ พัทธสีมาวัดทรายขาว ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
พระอุปัชฌาย์ พระอธิการอ่อน จนฺทสุวณฺโณ วัดทุ่งหวังใน ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
พระกรรมวาจาจารย์ พระครูสุภรณ์ธรรมนิวิฏฐ์ วัดทุ่งหวังนอก ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
พระอนุสาวนาจารย์ พระอธิการอั้น ยสินฺธโร วัดทรายขาว ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
4.งานปกครอง
พ.ศ. 2505 เป็นเจ้าอาวาสวัดทรายขาว อำเภอเมืองสงขลา
พ.ศ. 2539 เป็นเจ้าคณะตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา
พ.ศ. 2542 เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. 2545 เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองสงขลา
พ.ศ. 2550 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2555 เป็นเจ้าคณะจังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2557 ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๘
5. สมณศักดิ์
พ.ศ. 2510 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรม ที่ “พระใบฎีกา” ในฐานานุกรมของพระญาณโมลี (ประณีต จิตธมฺโม) รองเจ้าคณะจังหวัดสงขลา วัดเลียบ อำเภอเมืองสงขลา
พ.ศ. 2520 ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็น “พระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นตรี” ในราชทินนามที่ “พระครูประภัสร์ธรรมคุณ”
พ.ศ. 2532 ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท” ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2537 ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฏร์ ชั้นเอก” ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2539 ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก (ครองราชย์ครบ 50 ปี) ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระราชาคณะชั้นสามัญ” ในราชทินนามที่ “พระพิศาลพิพัฒนพิธาน”
พ.ศ. 2549 ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระราชาคณะชั้นราช” ในราชทินนามที่ “พระราชพิพัฒนาภรณ์”
พ.ศ. ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระราชาคณะชั้นเทพ” ในราชทินนามที่ “พระเทพญาณโมลี”
6. รางวัลและประกาศเกียรติคุณ
พ.ศ. 2516 ได้รับพัดรองประกาศเกียรติคุณจากกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้ร่วมมือกับทางราชการในการพัฒนาชุมชน
พ.ศ. 2532 ได้รับโล่รางวัลการประกวดวัดจังหวัดสงขลา จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
พ.ศ. 2535 ได้รับรางวัลเสาเสมาธรรมจักรทองคำ สาขาการเผยแพร่พระพุทธศาสนาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พ.ศ. 2541 ได้รับโล่รางวัลจากระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเป็นผู้ให้การสนับสนุนสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2545 ได้รับโล่รางวัลการจัดกิจกรรมอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อนดีเด่นจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
พ.ศ. 2553 ได้รับรางวัลพุทธคุณูปการระดับกาญจนเกียรติคุณ ในฐานะผู้มีผลงานทำนุบำรุงและส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างโดดเด่น จากคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ. 2554 ได้รับโล่รางวัลผู้ให้การสนับสนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
พ.ศ. 2554 ได้รับรางวัลสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่นระดับชาติ จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
7. งานการศึกษา
1. ประวัติการปฏิบัติหน้าที่ด้านการศึกษา
พ.ศ. 2509 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดอ่างทอง ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา
พ.ศ. 2509 – ปัจจุบัน เป็นกรรมการสอบธรรมสนามหลวง จังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2520 – ปัจจุบัน เป็นกรรมการสอบบาลีสนามหลวง จังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2520 – ปัจจุบัน เป็นกรรมการตรวจสอบธรรมสนามหลวง
พ.ศ. 2551 – 2554 เป็นกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนมหาวชิราวุธ
พ.ศ. 2551 – ปัจจุบัน เป็นกรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนวัดทรายขาว
พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน เป็นประธานหน่วยวิทยบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย จังหวัดสงขลา
2. มีวิธีส่งเสริมการศึกษา ดังนี้
– จัดหารางวัลมอบแก่พระภิกษุ-สามเณรผู้สอบไล่นักธรรมได้เป็นประจำทุกปี
– บริจาคเงินเข้ากองทุนการศึกษาของคณะสงฆ์จังหวัดสงขลาเป็นประจำทุกปี
– จัดหารางวัลมอบแก่พระภิกษุที่เป็นครูสอนศีลธรรมในโรงเรียน ที่นักเรียนสามารถสอบธรรมศึกษาได้จำนวนมากเป็นประจำทุกปี
– ส่งเสริมให้พระภิกษุ-สามเณรศึกษาต่อ โดยจัดหาอุบาสก-อุบสิกาเป็นผู้อุปถัมภ์ในเรื่องทุนการศึกษาต่อให้เป็นประจำทุกปี
– จัดหางบประมาณเพื่อเป็นค่ายานพาหนะแก่พระวิทยากร ที่เดินทางออกไปสอนธรรมศึกษายังศูนย์ธรรมศึกษาต่าง ๆ
– ดำเนินการเป็นธุระภาระจัดหาวัดรองรับแก่พระภิกษุ-สามเณรที่ต้องการเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างจังหวัด
– เป็นเจ้าภาพจัดหาตำราเรียน สมุด ปากกา และอุปกรณ์การเรียนเพื่อมอบแก่พระภิกษุ สามเณรที่เรียนนักธรรมในวัดเป็นประจำทุกภาคเรียน
8. งานเผยแพร่
พ.ศ. 2525 – ปัจจุบัน เป็นผู้ให้การอุปถัมภ์และอำนวยความสะดวกแก่พระธรรมทูตที่ปฏิบัติงานในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศอินโดนีเซียด้วยดีตลอดมา
พ.ศ. 2530 – ปัจจุบัน เป็นประธานดำเนินการให้การสนับสนุนและร่วมเป็นวิทยากรบรรยายธรรมในการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน การเข้าปริวาสกรรม และการเข้าค่ายอบรมคุณธรรมจริยธรรมของพระภิกษุ-สามเณร พ่อค้า ประชาชน และนักเรียน นักศึกษา ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมคณะสงฆ์จังหวัดสงขลา วัดภูเขาหลง
พ.ศ. 2530 – ปัจจุบัน เป็นประธานโครงการอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อนในเดือนเมษายน ซึ่งมีเยาวชนทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม ภายในพื้นที่เข้าร่วมปีละ 300 กว่าคน เป็นประจำทุกปี
พ.ศ. 2530 – ปัจจุบัน เป็นผู้ชักนำพุทธศาสนิกชนภายในประเทศมาเลเซีย – สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เข้ามาอุปสมบทในช่วงเข้าพรรษาภายในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี
พ.ศ. 2530 – ปัจจุบัน ได้รับนิมนต์ให้เข้าร่วมเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา – มาเลเซีย – สิงคโปร์ – ฮ่องกง – ลาว – ศรีลังกา – ใต้หวัน – อินโดนีเซีย เป็นต้น
พ.ศ. 2540 – ปัจจุบัน ดำเนินการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงประเทศใกล้เคียง โดยการสร้างวัดและส่งพระภิกษุเข้าจำพรรษาเป็นประจำทุกปี เช่น วัดปิเหล็ง อำเภอสุคิรินทร์ จังหวัดนราธิวาส วัดเขาแก้ว (บ้านแชะ) อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา วัดป่าแจ้งแก้ว (ทวดเสือ) อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา วัดเกาะลังกาวี-วนาราม รัฐเคดะ ประเทศมาเลเซีย
9. งานสาธารณูปการ
พ.ศ. 2520 – ปัจจุบัน เป็นแกนนำชักชวนผู้นำท้องถิ่นและราษฏรทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมในพื้นที่บ้านทรายขาวและใกล้เคียง ระดมทุนเพื่อพัฒนาชุมชนได้เป็นผลสำเร็จ จนเป็นแบบอย่างแก่ชุมชนอื่น สร้างอ่างเก็บน้ำหมู่บ้าน-สร้างประปาหมู่บ้าน-สร้างฝายน้ำล้นเพื่อการเกษตรชุมชน-สร้างอาคารเอนกประสงค์ประจำชุมชน-จัดซื้อที่ดินสร้างอนามัยประจำหมู่บ้าน-จัดซื้อที่ดินเพื่อมอบให้องค์การโทรศัพท์ในการขยายการโทรคมนาคมในตำบล-ดำเนินการขยายขอบเขตไฟฟ้าเข้าสู่วัดและมัสยิด รวมถึงหมู่บ้านทรายขาว-สร้างเมรุฌาปนกิจศพประจำหมู่บ้าน เป็นต้น
พ.ศ. 2530 – ปัจจุบัน ดำเนินการนำที่ดินอันเป็นมรดกของตระกูล รวมถึงซื้อเพิ่มและขอรับบริจาคในบริเวณใกล้เคียงจำนวน 187 ไร่ รวมถึงหาทุนทรัพย์เพื่อสร้างเป็นสำนักปฏิบัติธรรมแก่พระภิกษุ-สามเณร และประชาชนทั่วไปจนเป็นผลสำเร็จ ปัจจุบันได้รับการยกเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมคณะสงฆ์จังหวัดสงขลา วัดภูเขาหลง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมปีละหลายพันคน
พ.ศ. 2535 – ปัจจุบัน สร้างวัดปิเหล็ง อำเภอสุคิรินทร์ จังหวัดนราธิวาส วัดเขาแก้ว (บ้านแชะ) อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา วัดป่าแจ้งแก้ว (ทวดเสือ) อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา วัดเกาะลังกาวีวนาราม รัฐเคดะ ประเทศมาเลเซีย เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนในชายแดนภาคใต้
10. งานพิเศษ
– เป็นประธานดำเนินการจัดสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมคณะสงฆ์จังหวัดสงขลา วัดภูเขาหลง ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา
– เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติธรรมคณะสงฆ์จังหวัดสงขลา วัดภูเขาหลง
– เป็นคณะกรรมการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาประเทศไทย-มาเลเซีย (กส.ทม.)
– เป็นประธานดำเนินการโครงการก่อสร้างพุทธมณฑลจังหวัดสงขลา
คุณธรรมและผลงาน
พระเทพญาณโมลี (ผัน ปสนฺโน) เป็นพระภิกษุผู้มีศีลาจารวัตรที่เรียบง่าย งดงามตามพระธรรมวินัย และดำรงไว้ซึ่งคุณธรรมที่น่ายกย่อง อันเป็นที่ประจักษ์ทั้งในคณะสงฆ์และพุทธบริษัท รวมทั้งศิษยานุศิษย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิเช่น
1. เป็นผู้มีความกตัญญู กตเวที
พระเทพญาณโมลี เป็นพระเถระที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างยิ่ง ทั้งต่อบิดามารดา ผู้มีอุปการคุณ และต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากวัตรปฏิบัติของท่านในยามเยาว์วัย ได้ช่วยเหลือบิดามารดาในการประกอบอาชีพอย่างแข็งขัน เมื่ออายุครบบรรพชาอุปสมบท ได้ออกบรรพชาอุปสมบทเป็นการตอบแทนพระคุณ ตามคติที่ว่าให้บิดามารดาได้อาศัยเกาะชายผ้าเหลือง เพื่อจะได้ถึงสุคติในสัมปรายภพ
ครั้นออกบรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาพระธรรมวินัย จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตระหนักถึงพระคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงครองเพศเป็นบรรพชิตปฏิบัติธรรมตามคำสอน และได้พัฒนาตนเองจนได้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมนับว่าได้แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อองค์พระศาสดาประการหนึ่ง
ในด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระเทพญาณโมลีได้รับความร่วมมือจากทั้งพุทธศาสนิกชนและส่วนราชการเป็นอย่างดี ท่านแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้สังเคราะห์อนุเคราะห์ ด้วยการร่วมมือช่วยเหลือในกิจการของประชาชน และส่วนราชการทั้งอย่างเป็นทางการและโดยส่วนตัว ผู้ใดขอความอนุเคราะห์จากท่านจึงได้รับการร่วมมือสนับสนุนเป็นอย่างดี จนกิตติศัพท์ในด้านความกตัญญูกตเวทีเป็นที่กล่าวขานกันโดยทั่วไป
2. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต
พระเทพญาณโมลี เป็นพระภิกษุผู้ดำรงมั่นในพระธรรมวินัยอย่างแน่วแน่ จึงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ได้แก่
มีมโนสุจริต เพียรปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน เพียรชำระจิตให้บริสุทธิ์อยู่เป็นนิตย์
มีกายสุจริต ปฏิบัติตามศีลาจารวัตรอย่างเคร่งครัด ไม่ยึดติดในวัตถุธรรม เช่น ในการดำเนินการที่เกี่ยวกับการเงิน ท่านจะให้ไวยาวัจกร และคณะกรรมการในงานนั้น ๆ เป็นผู้กำกับดูแล จนได้รับความศรัทธาและไว้วางใจจากพระเถรานุเถระ พุทธศาสนิกชน ศิษยานุศิษย์ และประชาชนทั้งภายในและต่างประเทศ
มีวจีสุจริต พระเทพญาณโมลี เป็นผู้พูดน้อย การเจรจามักเป็นไปเพื่อการสั่งสอน อบรม แสดงธรรม และการสร้างสันติธรรมในหมู่ประชาชนรวมถึงศิษยานุศิษย์ ซึ่งก่อประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม อำนวยคุณแก่ทั้งศาสนจักรและอาณาจักรตลอดมา
3. เป็นผู้มีความเสียสละ
พระเทพญาณโมลี เป็นผู้ที่มีความเสียสละทั้งกำลังสติปัญญา กำลังกาย และกำลังทรัพย์ในการทำงานเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาและเพื่อยกฐานะการดำรงชีวิตของประชาชนในตำบลทุ่งหวัง ตลอดถึงประชาชนโดยทั่วไปตลอดมา
ในด้านกำลังสติปัญญา ท่านเป็นผู้มองการไกล ได้พัฒนาวัดควบคู่ไปกับการพัฒนาหมู่บ้านในตำบลทุ่งหวังจนมีเจริญ อยู่ดีกินดีมาโดยลำดับ รวมถึงการอบรมธรรมแก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และประชาชน จนก่อให้เกิ