หลากมุมมองบนเวที “โรงไฟฟ้ามา เทพาจะพัฒนาอย่างไร” กฟผ.ตอบทุกข้อสงสัย (มีคลิป)
ศูนย์ข่าวบ้านเรา.-ชาวเทพาตื่นตัวให้ความสนใจ ร่วมเสวนาการพัฒนาของอำเภอเทพากับการมีโรงไฟฟ้าอย่างคึกคัก ส่วนใหญ่ต้องการให้ กฟผ. มีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่นเพราะอยากให้ลูกหลานทำงานในพื้นที่ รวมถึงการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นท่ซึ่งหลายฝ่ายยังความเป็นกังวล ผู้เชี่ยวชาญจาก กฟผ.ตอบทุกข้อสงสัย
[video-0]
(8 เมษายน 2559) กลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จัดกิจกรรมสนทนาพาที “โรงไฟฟ้ามา เทพาพัฒนาอย่างไร” ณ ลานวัฒนธรรม ที่ทำการอำเภอเทพา เพื่อร่วมระดมความคิด แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของประชาชนในอำเภอเทพา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าร่วมให้ข้อมูล โดยมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 500 คน
ดร.พณวรรธน์ พงศ์ประยูร ประธานกลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเทพา กล่าวว่า ทุกวันนี้คนเทพามีอยู่ 2-3 กลุ่ม คือ 1 กลุ่มที่เห็นต่าง 2 กลุ่มที่เห็นด้วย 3 กลุ่มที่อยู่เฉยๆ แต่เวทีนี้จะเป็นเวทีให้ทุกฝ่ายได้มาแสดงความคิด ว่ามีโรงไฟฟ้าแล้วพัฒนาได้จริงควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม "อยากให้เทพาเป็นเมืองพัก ไม่ใช่เมืองผ่าน ซึ่งคนเทพาต้องได้ทำงานที่นี้"
นายดลเลาะห์ เหล็มแหละ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อำเภอเทพา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของเทพา ในมุมมองของตัวแทนของชุมชนเทพา อยากให้ การไฟฟ้าสร้างเขื่อนกันลม เพื่อป้องกันลมพายุ ไม่ให้เกิดอันตรายกับลูกหลานเทพาต่อไป เมื่อไฟฟ้าเข้ามาทำ อยากให้ทำที่กันการเซาะชายฝั่งเป็นอันดับแรก
นายฆอซาฟี มะดอหะ ผู้แทนคนรุ่นใหม่เทพา กล่าวเพิ่มเติมว่า นี่คือโอกาสของพวกเราทุกคนในอำเภอเทพา ในฐานะที่เป็นเยาวชนอยากให้ชุมชนมองว่า การมีโรงไฟฟ้าเป็นโอกาสที่ทำให้ชุมชนของเรามีการพัฒนา รวมทั้งการเกิดอาชีพ เกิดรายได้ อยากให้ลูกหลานคนเทพาได้ทำงานในโรงไฟฟ้า 80-90% เพราะเชื่อว่าโรงไฟฟ้าของเรา เราต้องดูแลเอง อยากให้ทุกคนเรียนรู้ ที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลง ที่จะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น
นายสนั่น ชายะพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฉาง อำเภอนาทวี จ.สงขลา กล่าวว่า โรงไฟฟ้าที่มาเลเซียใช้พลังงานถ่านหินเหมือนกับที่เทพา เขาร่วมมือร่วมใจกันที่สร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของการไฟฟ้า "อิจฉาคนเทพาที่จะมีโรงไฟฟ้า จะได้มีการสร้างงานสร้างรายได้ จะได้มีคนมาท่องเที่ยวมาซื้อของ"
ด้านอาจารย์สุรพันธ์ วงษ์โอภาสี ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน มองว่า เทพาเป็นเมืองที่ลมสงบที่สุด เป็นเหตุหนึ่งที่ กฟผ. เลือกพื้นที่นี้ในการสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นโอกาสที่ชุมชนจะได้มีโรงไฟฟ้าและมีการพัฒนา โรงไฟฟ้าเทพาจะเป็นโรงไฟฟ้าที่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และชุมชนจะมีโอกาสได้เงินพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ประมาณ 352 ล้านบาทต่อปี เฉลียวันละ 1 ล้านบาท โดยคำนวณจากหน่วยผลิตไฟฟ้า หน่วยละ 2 สตางค์
ยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ที่เปิดมาแล้วกว่า 10 ปี ว่ามีการบริหารจัดการควบคุมดูแลที่ดี เช่น การปล่อยน้ำของโรงไฟฟ้าที่มีการควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 1-2 องศา ซึ่งน้ำที่ปล่อยออกนี้จะทำให้เกิดแพลงตอน และเป็นอาหารของปลาในทะเลต่อไป การมีโรงไฟฟ้าทำให้เกิดการพัฒนาอาชีพ สร้างโรงเรียน สร้างวัด มีการให้ทุนการศึกษาให้กับนักเรียนทีมีศักยภาพ และมีสิ่งดีๆ เข้ามาในชุมชน
ด้านนายพล คงเสือ ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟผ. ซึ่งเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ถ้าชุมชนอยากให้ไฟฟ้าพัฒนาอะไร กฟผ. พร้อมรับฟังความต้องการและยินดีให้การสนับสนุน สำหรับเทคโนโลยีใหม่มีการควบคุมดูแลที่ดี ยกตัวอย่างประเทศมาเลเซีย ที่มีพี่น้องประชาชนชาวมาเลเซีย คอยตรวจสอบดูแล ด้านการจ้างงานในพื้นที่ กฟผ. ก็อยากจะจ้างร้อยเปอร์เซนต์ แต่ขอให้ตรงตามคุณสมบัติ เช่น วิศวกรรมไฟฟ้า หรืออาจจะจ้างงานผ่านบริษัทหรือการจ้างงานในท้องถิ่น ขอให้มั่นใจว่า กฟผ. จะเลือกคนในเทพาก่อน
ส่วนข้อข้องใจ ที่ประชาชนห่วงใยและถามถึงคือโครงการดังกล่าวมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปถึงพื้นที่เขตรอยต่อของ จ.ปัตตานีหรือไม่ เนื่องจากฝ่ายที่เห็นต่าง ได้กล่าวว่าการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ทำถึงพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่ห่างจากที่ตังโครงการเพียง 7-8 กิโลเมตร ผู้แทน กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากว่า 5 กิโลเมตร แต่มีการศึกษาคุณภาพอากาศคลุมพื้นที่ 30 กิโลเมตร รวมทั้งการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ พืช และ สัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีการการปนเปื้อนของมลสารสู่สิ่งแวดล้อมเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ขณะที่ในส่วนของความกังวลใจของผู้ประกอบอาชีพชาวประมง เกี่ยวกับเรื่องท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหิน ที่ยื่นออกไปในทะเลถึง 3 กิโลเมตร นั้น นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ได้ชี้แจงว่าลักษณะโครงสร้างโปร่ง มีระยะระหว่างจากเสาเข็มมากกว่า 3 เมตร ไม่กีดขวางการไหลเวียนของน้ำ และการเคลื่อนตัวของตะกอนตามแนวชายฝั่ง จึงไม่มีการกำเซาะชายฝั่ง โดยที่ชายหาดของเทพา ยังคงสภาพเดิมๆ และไม่กระทบต่ออาชีพประมงของชาวเทพาแน่นอน
โดยเวทีในวันนี้ ประชาชนที่มาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย ซึ่งทางผู้บริหาร กฟผ.ยืนยันว่าพร้อมนำทุกข้อเสนอที่ได้รับจากเวทีในวันนี้ไปสู่ภาคการปฎิบัติเพื่อให้โรงไฟฟ้าเทพา เป็นโรงไฟฟ้าของชุมชนอย่างแท้จริงตามที่ชาวเทพาต้องการ