สปข.6 รวมพลสื่อ 7 จ.ภาคใต้ เสวนาการแก้ไขปัญหาและพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้


17 พ.ค. 2562

สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 จัดสัมมนาปลุกพลังจิตอาสาสื่อมวลชนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ เสวนาการแก้ไขปัญหาและพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างสรรค์ผลงานขยายภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ประชาชน นักท่องเที่ยว และนักลงทุนทั้งในและนอกพื้นที่ได้รับทราบกันอย่างกว้างขวางด้วย

เมื่อวันที่ 14 - 15 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ จัดสัมมนาสื่อมวลชนในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย นางสาววงค์ทิพย์จันทภาโส ส่วนแผนงานและพัฒนางานประชาสัมพันธ์ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 และสื่อมวลชนจากหลากหลายแขนงร่วมงานในครั้งนี้

นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอยู่ 5 ข้อหลัก ได้แก่ 1.ลดความรุนแรงและใช้แนวทางสันติวิธี 2.ลดเงื่อนไขความรุนแรง อย่างการเปิดการเจรจากัน 3.การสร้างพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง 4.การพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาศักยภาพต่างๆในพื้นที่ภาคใต้ 5.การสร้างความเข้าใจ คนในพื้นที่ คนนอกพื้นที่และ คนต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันเน้นข้อนี้เพื่อทำสิ่งต่างๆ อย่างการเปิดนโยบายเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดย เน้นสร้างความเข้าใจแนวนโยบายการแก้ไขปัญหาและพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้และปลุกพลังจิตอาสาสร้างสรรค์ผลงานขยายภาพลักษณ์ที่ดี

ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการนำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน เน้นการสร้างเอกภาพและการบูรณาการของทุกภาคส่วนในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้ความสำคัญกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขและการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมซึ่งการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในนโยบายและแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกลไกสำคัญในการสร้างเอกภาพการบูรณาการ ตลอดจนการสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และการให้ความร่วมมือจากประชาชนและทุกภาคส่วน

นางสาววงค์ทิพย์จันทภาโส ส่วนแผนงานและพัฒนางานประชาสัมพันธ์ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 เปิดเผยว่า สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งมีภารกิจโดยตรงในการสนับสนุน งานประชาสัมพันธ์การสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการนำคณะผู้แทนสื่อมวลชน ลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านการพัฒนาเมืองต้นแบบอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อศึกษาความก้าวหน้า ของโครงการด้านต่างๆ เช่น สนามบินโรงไฟฟ้าชีวมวลการปลูกผักน้ำการเลี้ยงปลานิลน้ำไหลการพัฒนาจุดชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง และอีกหลายสถานที่ ระหว่างวันที่ 12 – 14 พฤษภาคม 2562 เพื่อนำมาขยายผลเผยแพร่ให้ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ได้รับทราบ

สำหรับการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะให้ความรู้เกี่ยวกับแนวนโยบายและการดำเนินงาน เพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้แก่สื่อมวลชนและเครือข่ายประชาสัมพันธ์แล้ว ยังมีการฟังบรรยายพิเศษจาก พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. และการจัดให้มีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนายอำเภอหนองจิก นายอำเภอเบตง และนายอำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีคัดเลือกพื้นที่ใน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยมีเป้าหมายให้อำเภอหนองจิก เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร อำเภอสุไหง โก-ลก เป็นศูนย์กลางการค้าขายชายแดนระหว่างประเทศ และอำเภอเบตง เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ทั้งหมดถือเป็นการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุน รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

IMG_4219.jpg

ด้านพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า ภาคใต้ชายแดน เรื่องดีๆมีทุกที่ สิ่งดีๆมีทุกวัน นั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งทางภาครัฐบาลและภาคเอกชนได้ช่วยกันหาวิธีการต่างๆ เพื่อที่จะช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความสงบสุข ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสิ่งที่จะตอบโจทย์คือความเข้าใจ ตามหลักทฤษฎีของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 “เข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา” ซึ่งความเข้าใจ คือ การรับรู้ว่าชาวบ้านในพื้นที่โดนกระทำสิ่งใดบ้าง เพื่อหาทางช่วยเหลือเขาเหล่านั้น ให้หลุดพ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหง,การเข้าถึง คือ การรับรู้ถึงต้นสายปลายเหตุของปัญหา เพื่อจัดการแก้ไขที่ถูกจุด และการพัฒนา คือ การให้ความรู้ทั้งด้านศาสนา และการศึกษาเพื่อพัฒนาคน และให้คนได้พัฒนาท้องถิ่นของตนเองต่อไป