สปข.6 พาสื่อดูงานเบตง บุกลุยแหล่งอาหาร3 วัตถุดิบ ขึ้นชื่อ ไก่เบตง ผักน้ำ ปลานิลน้ำไหล
สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 นำสื่อมวลชน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง บุกตะลุยแหล่งวัตถุดิบของดีของ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่ง อำเภอเบตง เป็น1 ใน 3 เมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน การเยี่ยมชมครั้งนี้ก็มีเป้าหมาย เพื่อชมวิถีชีวิตการเกษตร ที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมี เลี้ยงตัวเองได้ สร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เริ่มต้นกับวัตถุดิบอาหารชื่อดังของอำเภอเบตง อย่าง ไก่เบตง ที่ครั้งนี้ได้ไปดูที่ฟาร์มคีรีเบย์ โดยไก่เบตงมีความโดดเด่น ในด้านรสชาติ ความอร่อย เนื้อนุ่ม หนังกรอบ ไม่มีมันผสม แถมยังติดอันดับไก่เนื้อที่มีราคาแพงที่สุดในประเทศไทย โดยราคาปรุงสําเร็จอยู่ที่ตัวละ 1,200 บาท สาเหตุที่ราคาแพง เพราะเกษตรกรใช้เวลาเลี้ยงนานถึง 6 เดือน กว่าจะขายได้ เมื่อเทียบกับไก่ทั่วไปแล้วใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงนานกว่ากัน ถึงเท่าตัว จึงไม่แปลกที่ไก่เบตงจะมีรสชาติอร่อยและเป็น ของหาทานยาก
อีกทั้งกําลัง จะสูญพันธุ์ไปจากจังหวัดยะลา หากไม่มีการอนุรักษ์ ร.ต.ต.อุดม ลักษณะ นายกสมาคม การท่องเที่ยวเบตง เป็นหนึ่งในเกษตรกรหลายคนที่หันมา เลี้ยงไก่เบตง เพื่อเป็นการอนุรักษ์และตอบสนองความต้องการ ของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย โดยรวมกลุ่ม กันเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่เบตง
ต่อจากไก่เบตง ก็มาชมแหล่งวัตถุดิบอีกหนึ่งอย่างที่มาเบตงแล้วไม่ควรพลาด อย่าง ปลานิลน้ำไหลเบตง ซึ่งโดยทั่วไป ปลานิล เป็นปลา เศรษฐกิจ แพร่ขยายพันธุ์ง่ายและมีรสชาติดี ซึ่งการเลี้ยงปลานิลในสายน้ำไหลนั้นแต่เดิมชาวบ้านหมู่บ้านบ่อน้ำร้อนยึดอาชีพทำสวนทำนาทำยางพาราปลูกสวนผลไม้เป็นอาชีพหลักจึงมีผู้ริเริ่มหาอาชีพเสริมนอกจากการทำสวนยางและสวนผลไม้เริ่มแรกได้ทดลองเลี้ยงปลาจีนและปลานิล ต่อมาภาครัฐได้ส่งเสริมเลี้ยงปลาพลวงชมพู
แต่ปรากฏว่าการเลี้ยงปลานิลมีความต้องการทางตลาดสูงทำให้ได้เปรียบสามารถส่งปลานิลขายได้ต่อเนื่องทุกวันจึงมีการรวมกลุ่มกันเลี้ยงปลานิลเบตงในสายน้ำไหล ซึ่งต้องเลี้ยงในน้ำที่มีการไหลผ่านต่อเนื่องตลอด24 ชั่วโมง และอุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำเฉลี่ยไม่เกิน24 องศาตลอดทั้งปี ทำให้ได้เปรียบเรื่องคุณภาพ เนื้อปลานิลแน่น รสชาติดีไม่มีกลิ่นคาว ไม่เหม็นกลิ่นโคลน ทำให้ขายได้ราคา เป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีการเกิดความร่วมมือกันพัฒนาเลี้ยงและการตลาดทำให้เกิด หมู่บ้านปลา หลายคนที่มีโอกาสรับประทานเนื้อปลานิลเบตง บอกได้เลยว่า ไม่เหมือนใคร และติดใจทุกคน
วัตถุดิบสุดท้ายที่ใครๆมาเบตงแล้วต้องได้ทาน คือ ผักน้ำ ซึ่งผักน้ำมีลักษณ์คล้ายกับผักบุ้งผักกะเฉด ใบเล็ก มีลําต้นเป็นปล้อง อวบน้ำ มีส่วนรากติดดิน ส่วนลําต้น เลื้อยเหนือน้ำ เป็นพืชที่ชอบอากาศหนาว ผักน้ำเบตงผักน้ำมีกำเนิดมาจากประเทศฝรั่งเศสแล้วนำมาปลูกในประเทศจีนต่อมาแพร่หลายมาทางมาเลเซียและเข้ามาในประเทศไทยแถวจังหวัดยะลาจนกลายเป็นพืชเฉพาะถิ่นของอำเภอเบตงมาช้านาน นิยมใช้ส่วนยอดในการบริโภคเป็นผักที่ชื่นชอบขึ้นในที่ที่มีอากาศเย็นอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียสมีน้ำไหลจากภูเขาน้ำต้องใสไม่เป็นสนิมโดยเฉพาะน้ำที่ไหลมาจากซอกหินสามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งในดินทรายและหินเมนูแนะนำคือ ผัดผักน้ำ , ผักน้ำต้มกระดูกหมู แต่ก่อนผักน้ำเบตงบริโภคเฉพาะในหมู่คนจีนในจังหวัดยะลาเท่านั้นและไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่ทางด้านเกษตรจังหวัดได้มีการส่งเสริมและให้มีการนำมาประกอบเป็นเมนูเด่นในปัจจุบัน
การปลูกผักน้ำ ช่วงปลูกรอบแรกใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ถึงจะโตพอที่จะตัดขายได้ แต่ รอบต่อไปใช้เวลาประมาณ 45 วัน โดยรวมแล้วได้ประมาณ 7-8 รอบ โดยมีราคาส่ง อยู่ที่ 55-60 บาทและราคาขายปลีกอยู่ที่ 70-80 บาท แต่ทีเด็ดของผักน้ำเบตงอยู่ที่การปลูกและการใส่ปุ๋ย ซึ่งปุ๋ยก็เป็นปุ๋ยธรรมชาติจากการหมักของส่วนผสมต่างๆ อย่างไข่ น้ำปลา ฯลฯ ไม่มีการสารเคมีแต่อย่างใด