ชาวออมทรัพย์คลองเปียะ รวมตัวขึ้นกรุงยื่นหนังสือถึงนายกฯ ทวงเงินคืกว่า 100 ล้าน
ชาวคลองเปียะรวมตัวขึ้นกรุงยื่นหนังสือถึงนายกฯ ตรวจสอบ และทวงเงินคืนกว่า 100 ล้าน หลังถูกคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ตำบลคลองเปียะ ซึ่งเป็นต้นแบบของกลุ่มออมทรัพย์ทั่วประเทศ ยักยอกเงินจนล่มไม่เป็นท่า
เมื่อเวลาประมาณ 03.30 น. วันที่ 17 เม.ย. 59 ตัวแทนชาวบ้านที่เป็นสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการและการผลิตตำบลคลองเปียะ หรือ กลุ่มออมทรัพย์ตำบลคลองเปียะ อ.จะนะ จ.สงขลา จำนวนกว่า 30 คน ได้รวมตัวกันออกเดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เข้ามาช่วยตรวจสอบคณะกรรมการของกลุ่มออมทรัพย์ตำบลคลองเปียะ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดกว่า 40 คน หลังไม่สามรถจ่ายเงินปันผลให้กับสมาชิก และพบปัญหาการยักยอกเงินไปกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเวลาล่วงเลยมา 1 ปี และไม่มีความคืบหน้าใดๆจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะเดินทางถึงกรุงเทพฯในช่วงเช้าของวันจันทร์นี้
นางเสาวคนธ์ บุญแก้ว ตัวแทนชาวบ้าน เผยว่า กลุ่มออมทรัพย์ตำบลคบองเปียะได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2523 โดยมี นายอัมพร ด้วงปาน เป็นประธาน โดยมีสมาชิกก่อตั้ง 30 คน และยึดหลักคุณธรรม 5 ประการ ในการบริหารจัดการ คือ ซื้อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ และไว้ใจ จนเป็นที่ยอมรับและไว้ใจของชาวบ้าน ซึ่งปัจจุบัน นายอัมพร ด้วงปาน ได้เกษียณอายุ และทำหน้าที่เป็นกรรมการที่ปรึกษา โดยมีการคัดเลือกให้ นายเฉลิม ทองพรม เป็นประธานคนใหม่ (ประธานคณะกรรมการกลาง) โดยมีสมาชิกรวมกว่า 8,000 คน ทั้งใน ต.คลองเปียะ 8 หมู่บ้าน ต.ป่าชิง 1 หมู่บ้าน และ ต.ทุ่งหวัง 1 หมู่บ้าน และมีเงินทุนหมุนเวียนในระบกว่า 300 ล้านบาท โดยมีการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 10 เป็นการชักจูงใจ
ส่วนชนวนปัญหาเริ่มเกิดขึ้นใน มี.ค. 58 ซึ่งเป็นเดือนที่ทางกลุ่มออมทรัพย์จะต้องจ่ายเงินปันผลให้กับสมาชิกทุกคน แต่กลับมาสมาชิกในพื้นที่ ม.1 บ้านป่าพลู ต.คลองเปียะ จำนวนประมาณ 200 คน ไม่ได้รับเงินปันผล ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกจึงได้มีการสอบถามไปยังประธานและคณะกรรมการประจำกลุ่มกลุ่มย่อยของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ก็ไม่สามารถนำเงินปันผลมาจ่ายให้กับสมาชิกได้ รวมทั้งไม่มีคำชี้แจงถึงสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนคณะกรรมการกลางก็ไม่มีการแสดงความรับผิดชอบใดๆ
จึงทำให้สมาชิกเกิดความไม่พอใจ และรวมตัวกันเพื่อลาออกจากการเป็นสมาชิก เพื่อเอาเงินที่ฝากกลับคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อชาวบ้านในหมู่บ้านอื่นๆ เมื่อทราบเรื่องความไม่โปร่งใสดังกล่าว จึงมีการทวงถามเงินฝากของตนไปยังคณะกรรมการกลุ่มย่อยประจำหมู่บ้าน และคณะกรรมการกลาง ก็พบว่ามีเงินฝากหายโดยไม่ทราบที่ไปรวมทั้งสิ้นกว่า 100 ล้านบาท เเละต้องหยุดการทำธุรกรรมทั้งฝากและถอนทุกประเภทในขณะนี้
นางเสาวคนธ์ เผยอีกว่า หลังเกิดปัญหาได้ขอความช่วยเหลือไปยังหน่อยงานภาครัฐ 3 หน่วย ทั้ง ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา ตำรวจ สภ.ควนมีด และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า โดยในส่วนของศูนย์ดำรงธรรมได้ส่งเรื่องมายังอำเภอจะนะให้พัฒนากรและปลัดอำเภอเข้ามาฟื้นฟู และตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาทำงานแทน แต่ชาวบ้านหมดความศรัทธา และไม่รู้ว่าจะเกิดปัญหาดังกล่าวอีกหรือไม่ ขณะที่ทางคดีที่ สภ.ควนมีด เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำคดีได้ถูกโยกย้ายไปอยู่ที่ที่อื่น และไม่ได้มีการเรียกตัวกลับมา หรือแต่งตั้งคนใหม่ให้เข้ามาทำคดีแทน ส่วนดีเอสไอขณะนี้ยังไม่มีการตอบกลับมาว่าจะรับเรื่องราวความเดือดร้อนดังกล่าวเป็นคดีพิเศษหรือไม่
ด้าน นายกฤษฉาย คงทอง ตัวแทนชาวบ้านอีกราย กล่าวว่า อยากให้ทางรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน ทั้งในส่วนของการตรวจสอบบัญชี รวมทั้งทวงคืนเงินฝากของชาวบ้าน และนำตัวคณะกรรมการกลาง และ คณะกรรมการกลุ่มย่อย ที่ทำผิด และยักยอกเงินของชาวบ้านมาลงโทษ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวสวนยางพาราและชาวนานั้น ต้องการออมเงินเอาไว้เป็นทุนการศึกษาสำหรับบุตรหลาน และเอาไว้ใช้จ่ายในยามแก่ชรา แต่กลับถูกกลุ่มคนที่กลุ่มอำนาจในระบบยักยอกเงินเอาไปใช้กันเอง และเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง
ทั้งนี้ กลุ่มออมทรัพย์ตำบลคลองเปียะ ก็รับรูปแบบการออมมาจากกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งได้คิดค้น และริเริ่มให้นำมาใช้ในปี 2517 เนื่องจากจากต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งพื้นที่นำร่องและพื้นที่อื่นๆในหลายภูมิภาคทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะล้มละลายไม่เป็นท่าในระยะเวลาเพียงสั้นๆเท่านั้น เนื่องจากการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส ไมเป็นธรรม และไม่สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งยังไม่สามารถจดทะเบียนได้ด้วย
แต่กลุ่มออมทรัพย์ตำบลคลองเปียะ กลับเป็นกลุ่มออมทรัพย์เดียวที่สามารถยืนหยัดมาได้อย่างยาวนานที่สุดกว่า 35 ปี และเป็นแบบอย่างให้กับกลุ่มออมทรัพย์อื่นๆทั่วประเทศมาศึกษาดูงาน ก็ถึงคราวล่มสลายไม่เป็นท่าจากการบริการที่ไม้เป็นธรรมดังกล่าวเช่นเดียวกัน จึงอยากให้ทางรัฐบาล ซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้าย ได้เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน ก่อนที่เรื่องราวจะลุกลามใหญ่โต จนกลายเป็นปัญหาความร้าวฉาน และความแตกแยกของคนในชุมชนและสังคม