แจ้งเกิด แผ่นยางพาราปูพื้นผิวต่างสัมผัส ผลงานนวัตกรรมไทยพร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์
ยางพารา พืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้และของประเทศไทย ในรอบหลายปีที่ผ่านมาราคาผันผวนตลอด จนทำใหเกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักทำให้ไม่สามารถควบคุมราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนได้ แต่วันนี้เริ่มมีการเปลี่ยนจากผู้ผลิตต้นน้ำ มาเป็นผู้แปรรูปจนถึงปลายน้ำแล้ว ภายใต้ความร่วมมือของส่วนราชการ วิชาการ เอกชน และชาวสวนยางพารา
"แผ่นยางพาราปูพื้นผิวต่างสัมผัส" คือผลงานสินค้าขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทย ปี 2562 ของจังหวัดยะลา มีบริษัท ภาภรอัณณ์ จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่าย กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางและผลิตภัณฑ์ยางตาชี เป็นผู้ผลิต ภายใต้การสนับสนุของจังหวัดยะลา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เป็นแผ่นปูพื้นที่สำหรับคนพิการทางการมองเห็น สนับสนุนการก้าวสู่สังคมผุ้สูงอายุ รองรับการก่อสร้างอาคารยุคใหม่หรือปรับปรุงอาคารเดิมให้เป็นอารยสถาปัตย์ หรือ UNIVERSAL DESIGN พื้นที่สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย ที่สำคัญคือเป็นสินค้าที่ผลิตจากยางพาราผ่านการวิจัยและมีผลงานทางวิชาการรองรับ พร้อมผลิตเป็นสินค้าชื่อรุ่น PARATI ยี่ห้อ STD TILES จัดจำหน่ายโดย “วัสดุดี WASSAUDEE” พร้อมป้อนสู่ตลาดโลก ร่วมสร้างเส้นทางปลอดภัย เสน่ห์ประเทศไทย เราใส่ใจทุกคน
โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 า ณ ภัตตาคารไลลา สวนขวัญเมือง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานเปิดการแถลงข่าวพร้อมร่วมเสวนาในหัวข้อ “จากยางพาราสู่แผ่นวัสดุปูพื้นเพื่อคนตาบอด “PARATI” สินค้าขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทย ป้อนสู่ตลาดโลก ร่วมสร้างเส้นทางปลอดภัย เสน่ห์ประเทศไทย เราใส่ใจทุกคน” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายจิรวิทย์ มีชูภัณฑ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง , นายทรงวุฒิ ดำรงกูล ประธานกรรมการผู้ผลิตกลุ่มเกษตรกรทำสวนยาง และผลิตภัณฑ์ยางตาชี , ดร.บัณฑิต ประดับสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อคนทุกคน (Universal Design) , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อโนมา ธิติธรรมวงศ์ ผู้วิจัยและพัฒนาภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนางสาวบุปอร ชวัลชาณัฐดา ผู้บริหาร บริษัท ภาภรอัณณ์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภััณฑ์ภายใต้แบรนด์ วัสดุดี WASSADUDEE
นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายหลายมาตรการเพื่อผลักดันการใช้ยางในประเทศมากขึ้น และเพิ่มมูลราคาให้กับยางพารา จังหวัดยะลา เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นลำดับ 5 ของประเทศ ซึ่งได้มีการผลักดันให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางได้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราเพิ่มมากขึ้น โดยถือเป็นวาระของจังหวัดในการพัฒนาให้เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการผลิต และแปรรูปยางพารา เพื่อเพิ่มมูลราคายางพารา (Smart Rubber) ซึ่งสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความเข้มแข็งสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราออกสู่ตลาดได้ และเป็นการดีเมื่อมีผู้ประกอบการ โดย บริษัท ภาภรอัณณ์ จำกัด ภายใต้แบรนด์ “วัสดุดี” ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการคิดค้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราแผ่นยางพาราปูพื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับผู้พิการทางการเห็น และได้จดสิทธิบัตรขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ในบัญชีผลงานนวัตกรรมไทยในปี 2562 ถือเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพาราชิ้นแรกของจังหวัดยะลาที่ได้ขึ้นบัญชีผลงานนวัตกรรมไทย ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับสถาบันเกษตรกร รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมยางให้ยั่งยืน ตลอดจนเป็นการเพิ่มมูลราคายางพาราให้กับเกษตรกรชาวสวนยางได้เป็นอย่างดี
ด้านนายจิรวิทย์ มีชูภัณฑ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของการยางแห่งประเทศไทย สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อมุ่งขับเคลื่อนในการให้ความสำคัญกับการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ และผู้สูงอายุ เพื่อการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ หรือบริการสาธารณะ เพื่อร่วมกันปรับสภาพแวดล้อม ทั้งที่เป็นอาคาร สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ ให้กับผู้พิการ และผู้สูงอายุ รวมถึงคนทุกเพศทุกวัย สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข สามารถเข้าถึง ใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก และปลอดภัย รวมทั้งปราศจากอุปสรรค เกิดความเท่าเทียมกัน ประกอบกับผลกระทบด้านราคายางพาราในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายปัจจัย ทำให้เกิดความผันผวนของราคายางพารา ในช่วงที่ผลผลิตยางพาราล้นตลาด ภาครัฐจึงต้องเข้ามาแทรกแซงกลไกลตลาดยางพาราผ่านการใช้นโยบายต่างๆ
ขณะที่นางสาวบุปอร ชวัลชาณัฐดา ผู้บริหาร บริษัท ภาภรอัณณ์ จำกัด ภายในแบรนด์ วัสดุดี WASSADUDEE กล่าวว่า ทางบริษัทฯ เห็นว่าก้าวสำคัญที่จะตอบสนองนโยบายรัฐเพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรโดยตรง คือ การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพการผลิต และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ แทนที่จะมุ่งขายเพียงวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว องค์ประกอบที่สำคัญ คือ จะต้องศึกษา และผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล เน้นการพัฒนาคุณสมบัติบางประการให้คุณภาพดีกว่า เพื่อให้สามารถใช้งานในประเทศ และส่งออกขายไปต่างประเทศได้
สำหรับ “ผลิตภัณฑ์แผ่นยางพาราปูพื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับคนพิการทางการเห็น” เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาร่วมระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ ผู้ประกอบการ บริษัท ภาภรอัณณ์ จำกัด , สถาบันเกษตรกรทำสวนยางและผลิตภัณฑ์ยางตาชี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อนำไปใช้เป็นวัสดุตกแต่งอาคาร จัดอยู่ในกลุ่มสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ใช้เพื่อผู้พิการทางการเห็น หรือผู้ที่มีสายตาเลือนราง และเพื่อความปลอดภัยของคนทุกคน โดยแผ่นยางพาราปูพื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับคนพิการทางการเห็น จะนำไปใช้ปูบนพื้นทางเดิน มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม 2 รูปแบบ ลายกลมใช้ในการสื่อความหมายด้านการเตือน (Para Natural Tactile-Warning) และลายเส้นใช้บอกทิศทางในการเดิน (Para Natural Tactile-Guiding) หรือเรียกอีกอย่างว่า “เบรลล์บล็อก” (BRAILLE BLOCK) จากยางพารา
นอกจากนี้ ตัวผลิตภัณฑ์ยังมีจุดเด่น ที่สามารถผลิตได้จากยางพาราธรรมชาติ 100 % คือ เป็นวัตถุดิบที่ใช้ทดแทนวัสดุที่เป็นพอลิเมอร์ จากปิโตรเคมีอย่างยางสังเคราะห์ และเทอร์โมพลาสติก ตลอดจนวัสดุที่เป็นคอนกรีต หรือบล็อกซีเมนต์ ซึ่งมีความแข็งที่สูงกว่า โดยข้อดีของยางธรรมชาติมีความยืดหยุ่นดี เป็นมิตรกับอุปกรณ์รถเข็น วีลแชร์ จะช่วยลดการสะเทือน ซึ่งอาจทำให้ผู้นั่งรู้สึกเจ็บได้ การเดินบนแผ่นยางจะเพิ่มแรงเสียดทานช่วยป้องกันการลื่นไถลได้ดี มีความทนทานอันเนื่องมากจากมีความคงทนต่อการขัดสี เหมาะกับการใช้งานในที่สาธารณะ ได้มีการออกแบบสีของวัสดุให้สวยงาม ผลิตสีได้หลากหลาย และมีเนื้อเดียวกันทั้งชิ้น ไม่ดูดซึมน้ำ และสิ่งสกปรก หลังติดตั้งสามารถทำความสะอาดให้เหมือนใหม่ได้ง่าย การวิจัยพัฒนา เสริมความโดดเด่น โดยผสมสารต้านทานการลามไฟเพื่อใช้ติดตั้งในอาคารได้ และการป้องกันจุลชีพ เพื่อลดการสะสมตัวของเชื้อโรคได้ดี
นางสาวบุปอร กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากจะช่วย นำผลจากการวิจัยและพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ สามารถนำจำหน่ายให้กับตลาดในประเทศ และต่างประเทศแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างสนับสนุน ผู้วิจัย เสริมความมั่นใจด้านการผลิตของสถาบันเกษตรกร เพื่อเปลี่ยนแนวความคิดขายแต่วัตถุดิบ หันกลับมามุ่งมั่นพัฒนาเป็นสินค้าอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำ และเป็นพืชเศรษฐกิจหลักทางภาคใต้ให้ได้ ผลิตภัณฑ์ได้อนุมัติเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ในบัญชีนวัตกรรมไทยแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ “แผ่นยางพาราปูพื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับคนพิการทางการเห็น” ชื่อรุ่น PARATI ยี่ห้อ STD TILES ซึ่งจัดจำหน่ายโดย “วัสดุดี WASSAUDEE” ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ WWW.WASSADUDEE.COM
นับเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมากสำหรับสังคมยุคปัจจุบัน และที่สำคัญนี่คือผลิตภัณฑ์จากยางพารา 100% ที่พร้อมช่วยให้เกษตรกรไทยมีคความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
ต้อม รัตภูมิ รายงาน