เปิดแนวคิดนายกบ้านหาร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนในทุกมิติ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุดในปัจจุบัน มีทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญัติ และราชการส่วนท้องถิ่น ผู้นำมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง เทศบาลตำบลบ้านหาร อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ตำบลขนาดเล็กที่มี 5 หมูบ้าน พื้นที่ประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 5,000 คน นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลามในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน เป็นพื้นที่เกษตรใกล้เมืองเพราะอยู่ติดอำเภอหาดใหญ่ มีสายน้ำคลองอู่ตะเภา คลองบ้านหาร และใกล้แนวคลองภูมินาถดำริ (คลองร.1) จากองค์การบริหารส่วนตำบลสู่เทศบาลตำบลบ้านหาร เมืองเล็กๆ แห่งนี้มีหลายเรื่องราวที่น่าสนใจให้ติดตามกัน
ทีมงานมีโอกาสพูดคุยกับนายสักการียา หวังบิลหมัด นายกเทศมนตรีตำบลบ้านหาร แม่ทัพในการพัฒนาตำบลบ้านหาร มาตั้งแต่ปี 2544 ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ก่อนเปลี่ยนมาเป็นนายกอบต.และนายกเทศมนตรี รวม 5 สมัยกว่า 18 ปีที่ได้รับความไว้วางใจทั้งจากการเลือกตั้งโดยอ้อม และเลือกจากประชาชนโดยตรง ด้วยความเป็นลูกหม้อในท้องถิ่น เป็นนักพัฒนาที่มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ และเป็นกันเองกับชาวบ้าน รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกมิติการพัฒนาท้องถิ่น บ้านหาร จึงเป็นท้องถิ่นที่ถูกวางกรอบการพัฒนาไว้อย่างชัดเจนทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่ทำให้ชาวบ้านให้ความไว้วางในการทำหน้าที่เป็นแม่ทัพฝ่ายบริหาร เพราะเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน มีแผนการทำงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สามารถตอบชาวบ้านได้ว่าจะมีอะไรใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้บ้าง มีการวางแผนการใช้งบประมาณ จัดลำดับความสำคัญ เมื่อมีเงินสนับสนุนเข้ามาก็สามารถนำมาใช้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงช่วงใกล้สิ้นปีงบประมาณ วันนี้ถนนทุกสายในตำบลบ้านหารได้มีการขึ้นทะเบียน กำหนดเขตทางไว้อย่างชัดเจน มีการก่อสร้างถนนลาดยาง ถนนคอนกรีตเกือบหมดทุกสาย มีระบบน้ำประปา ประสานการขยายเขตไฟฟ้าให้เข้าถึงทุกครัวเรือน มีไฟส่องสว่างบนเส้นทางสาธารณะ
ด้วยชัยภูมิที่ตั้งของตำบลเป็นพื้นที่ลุ่มริมน้ำจึงเหมาะกับการทำเกษตร ผักบ้านหาร ถือเป็นผลผลิตที่มีชื่อเสียงส่งขายไปทั่วหาดใหญ่ และไปไกลถึงมาเลเซีย โดยเทศบาลได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษ การใช้น้ำหมักชีวภาพจากน้ำหมักขยะอินทรีย์ วันนี้สามารถบอกได้เต็มปากว่าเขตบ้านหาร แทบไม่ต้องต้องมีถังขยะเพราะทุกบ้านมีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เศษข้าว ใบไม้ กิ่งไม้ ที่เคยเอามากองไว้ข้างทาง ข้างถังขยะ วันนี้ถูกนำไปเป็นปุ๋ยหมดแล้ว ขยะรีไซเคิล ก็มีการเก็บไว้เพื่อนำมาขายสร้างรายได้ การบริหารจัดการขยะที่นี่ถือว่าล้ำหน้าที่อื่นมาก
และวันนี้ที่เทศบาลตำบลบ้านหาร ก็มีสนามฟุตซอซอลบ้านหารอารีน่า สนามหญ้าเทียมมาตรฐานแห่งเดียวในย่านนี้ จึงมีผู้มาใช้บริการทั้งชาวบ้านหารและพื้นที่ใกล้เคียง ล่าสุดทางเทศบาลได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จัดการแข่งขันฟุตบอลบ้านหารสัมพันธ์ นำรายได้ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งถือเป็นรายการแรกที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และสอดคล้องกับแนวทางการดูแลคุณภาพชีวิตของชาวบ้านที่เรามีศูนย์บริการประชาชน 24 ชั่วโมง มีกล้องวงจรปิดในทุกพื้นที่ และมีการประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นประจำ เพื่อให้บริการพี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ด้วยความเป็นตำบลขนาดเล็ก ตำบลบ้านหาร ได้วางตัวเองเป็นเมืองที่อยู่อาศัย เมืองสิ่งแวดล้อมดี เป็นพื้นที่ปลอดโรงงานอุตสาหกรรม การขยายตัวของเมืองหาดใหญ่ ทำให้เริ่มมีประชากรมาอยู่ในพื้นที่บ้านหารมากขึ้นด้วย เราถึงได้มีการจัดทำแถวถนนที่ชัดเจน มีปักป้ายกำหนดเขตทางตลอดสายซึ่งพูดได้เลยว่าเป็นท้องถิ่นแรกๆ ที่มีการแบบนี้ การเพิ่มพื้นที่สาธารณะก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น พื้นที่ริมคลองอู่ตะเภา ปัจจุบันมีการทำแนวกันตลิ่งพัง เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จเราจะปรับปรุงพื้นที่ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว สร้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เชื่อมโยงพื้นที่ริมคลองอู่ตะเภาและอารยธรรมทะเลสาบสงขลา
การพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ปัจจุบันการกระจายอำนาจยังไม่เต็มรูปแบบ งบประมาณที่ได้รับยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชน อย่างเทศบาลตำบลบ้านหาร มีงบประมาณปีละ 30 ล้าน ในการดำเนินโครงการต่างๆ ต้องอาศัยการสนับสนุนจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ซึ่งเทศบาลก็ได้ประสานมาอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องถนนหนทาง ระบบระบายน้ำ ไฟส่องสว่าง พร้อมนำมาขับเคลื่อนการสร้างบ้านหารให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติ
เด่น ฤทธิรงค์ ภาพ ต้อม รัตภูมิ รายงาน