​วิศวะ ม.อ.พร้อมจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G ก่อนให้รัฐพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์


15 ส.ค. 2562

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดตั้งศูนย์ทดสอบระบบโครงข่ายโทรคมนาคม 5G เพื่อการพัฒนาอนาคตของภาคใต้ ก่อนพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต


(14 ส.ค. 62) ที่ห้องประชุมดงยาง 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รศ.ดร.ณัฎฐา จินดาเพ็ชร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ตลอดจนผู้แทน กสทช. และผู้แทนเครือข่ายสัญญานโทรศัพท์ค่ายต่าง ๆ ร่วมกันแถลงข่าวการจัดตั้งศูนย์ทดสอบระบบโครงข่ายโทรคมนาคม 5G โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนง ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ลงนามความร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) แห่งชาติ ในการจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G จัดเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานในการติดตั้งสถานีฐาน และกำหนดขอบเขตพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ (Regulatory sandbox) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สำหรับการทดสอบ 5G เพื่อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ และให้บริการประชาชนทั่วภาคใต้

ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และประธานคณะกรรมการโครงการการศึกษาและจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G กล่าวว่า "คณะฯ มีความพร้อมในการดำเนินงานขับเคลื่อน 5G ที่สอดคล้องกับ Roadmap ของ กสทช. ทั้งในด้านการเรียนการสอนที่ได้การรับรองจากสภาวิศวกรในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร และทีมสหวิทยาการ ที่จะบูรณาการประยุกต์ใช้งาน (Use Case) ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมในวงกว้าง ให้แก่ชุมชน และผู้ประกอบการ อาทิ ระบบสาธารณสุขทางไกล ความมั่นคง ขนส่งอัจฉริยะ อุตสาหกรรม 4.0 เกษตรอัจฉริยะ อุปกรณ์เชื่อมต่อ Internet of Things (IoTs) และ Big Data เป็นต้น"

ด้าน รศ.ดร.ณัฎฐา จินดาเพ็ชร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โดยลักษณะภูมิประเทศของภาคใต้ ความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพ และความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การใช้เทคโนโลยี 5G จึงต้องการจะเน้นไปที่ระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดและดูแลสุขภาพทางไกลผ่านเครือข่ายสื่อสาร และระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะและการจัดการผลผลิตทางการเกษตรสมัยใหม่

สำหรับผู้สนใจและวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักวิจัย ผู้ให้บริการโครงข่าย ผู้ผลิต-นำเข้าอุปกรณ์ หรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5G สามารถยื่นขอเสนอเจตจำนงในการเข้าร่วมทดสอบระบบในพื้นที่ Regulatory Sandbox ผ่านผู้ประสานงานพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ 5G รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฎฐา จินดาเพ็ชร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 e-mail : [email protected] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ee.psu.ac.th