ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ลงพื้นที่เยี่ยมชมโบราณสถานย่านเมืองเก่าสิงหนคร-สงขลา


7 ต.ค. 2562

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ลงพื้นที่เยี่ยมชมป้อมหมายเลข 8 และเดินทางศึกษาข้อมูลโบราณสถานเจดีย์องค์ขาวองค์ดำ อำเภอสิงหนคร เยี่ยมชมภาพสีน้ำภายใต้นิทรรศการศิลปะ Singora Comes Alive...ย้อนอดีตเมืองเก่าสงขลา เยี่ยมชมบ้านทรงคุณค่า (บ้านแป๊ะยาขวด The Apothecary of Singora) และชมบ้านจีนสามห้อง ณ ย่านเมืองเก่าสงขลา


(6 ต.ค. 62) ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ลงพื้นที่เยี่ยมชมป้อมหมายเลข 8 ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นป้อมที่ก่อด้วยหินชั้นสีแดงสอปูน มีการวางหินโดยใช้ด้านกว้างวางทับกันช่วยให้ตัวป้อมมีความมั่นคงและแข็งแรง แสดงให้เห็นว่าเมืองสงขลาหัวเขาแดงเป็นเมืองที่มีป้อมปราการ ประตู หอรบ ที่มั่นคงแข็งแรงมาก บ่งบอกว่าจะต้องเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านการปกครองและด้านการทหาร ซึ่งป้อมหมายเลข 8 มีลักษณะผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 12 เมตร ยาว 18เมตร สูง 1.80 เมตร มีใบบังทั้งสี่ด้าน ตั้งอยู่บนปลายสุดของเขาค่ายม่วงทางมุมเมืองด้านทิศตะวันออกถึงทิศเหนือและกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ วันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2535

จากนั้นเดินเท้าขึ้นเจดีย์องค์ขาวองค์ดำ เพื่อศึกษาข้อมูลโบราณสถาน พร้อมรับฟังการบรรยายจากวิทยากรกรมศิลปกร ซึ่งเจดีย์องค์ขาวองค์ดำถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในการรักษาขอบขัณฑสีมากรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นในเขตหัวเมืองชายแดนภาคใต้ เรียกกันว่า “เจดีย์สองพี่น้อง” องค์แรกเป็นเจดีย์องค์พี่ ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ก่อด้วยหินฉาบปูน ยอดปรักหักพัง มีสีดำ คนทั่วไปเรียกว่า “เจดีย์องค์ดำ” สร้างเมื่อ พ.ศ.2375 โดยเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ส่วนเจดีย์องค์ที่สอง เป็นเจดีย์องค์น้องก่อด้วยอิฐฉาบปูนมีสีขาว เรียกกันว่า “เจดีย์องค์ขาว” สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.2382-2484 โดยพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ ผู้เป็นน้องร่วมมารดากับเจ้าพระยาพระคลังฯ ปัจจุบันองค์เจดีย์ทั้งสองได้รับการขุดแต่งบูรณะจากหน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลา กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ.2525 และยังเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสงขลา อีกด้วย

จากนั้นได้ลงพื้นที่โบราณสถาน “บ่อเก๋ง” ตำบลหัวเขาแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เยี่ยมชมภาพสีน้ำ ภายใต้นิทรรศการศิลปะ Singora Comes Alive...ย้อนอดีตเมืองเก่าสงขลา ของวิสาหกิจชุมชน “Ecotourism Songhla Thailand” นำทีมโดย SONGKHLA STATION พร้อมด้วยแกนนำการท่องเที่ยวชุมชนตำบลหัวเขาและกำลังเครือข่ายต่างๆจากหลายภาคส่วนเพื่อเป็นการเปิดตัวการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนตำบลหัวเขา กระตุ้นให้ชาวชุมชนตระหนักถึงความสำคัญ ความรัก ความหวงแหนในมรดกของบรรพชนที่สร้างไว้ นำมาซึ่งความสามัคคีและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับนิทรรศการ ประกอบด้วย กิจกรรมหลักคือนิทรรศการจิตรกรรมสีน้ำโดย 2 ศิลปินท้องถิ่นชาวสงขลา โดยอาจารย์นิวิต หะนนท์ อดีตอาจารย์ศิลปะโรงเรียนวรนารีเฉลิมและอาจารย์ อุดมพร เวชศาสตร์ ศิลปินสีน้ำอันดับต้นๆของเมืองสงขลา กิจกรรมถ่ายทอดความงดงามของเมืองเก่าสงขลา 3 ยุค ผ่านงานจิตรกรรมเชื่อมโยงเมืองเก่าสงขลาบ่อยางย้อนอดีตสู่สงขลายุคแรก ซิงกอร่า ซึ่งผลงานจิตกรรมทั้งหมดจะติดตั้งภายในสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ "HUAKAO Pavilion" ที่ถูกออกแบบมาอย่างสวยงามและก่อสร้างโดยการร่วมแรงร่วมใจของชาวชุมชนตำบลหัวเขา

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการเดินแฟชั่นโชว์ชุดยูนิฟอร์มแกนนำการท่องเที่ยวชุมชนตำบลหัวเขาและกิจกรรม Workshops เช่น กิจกรรมผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติดินเขาแดง กิจกรรมการระบายสีกระเบื้องโบราณสงขลา กิจกรรมงานประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติในชุมชน และกิจกรรมแกะลายว่าวภาคใต้ โดยได้แรงบันดาลใจจากชุมชนหัวเขา เป็นต้น รวมถึงการแสดงผลงานศิลปะสร้างสรรค์จากจากนักศึกษาศิลปะจาก 3 มหาวิทยาลัย จากหลักสูตรแฟชั่นและสิ่งทอ มทร.ศรีวิชัย หลักสูตรการออกแบบ ม.ราชภัฏสงขลา หลักสูตรศิลปศึกษา ม.ทักษิณ การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนของกลุ่มสตรีชุมชนตำบลหัวเขา และของที่ระลึกอีกมากมาย

ต่อด้วยการลงพื้นที่เยี่ยมชมบ้านทรงคุณค่า (บ้านแป๊ะยาขวด The Apothecary of Singora) ซึ่งตั้งอยู่บ้านเลขที่ 163 ถนนนครใน เป็นบ้านจีนโบราณยุคแรกสมัยก่อตั้งเมืองสงขลาซึ่ง ในอดีตเป็นร้านขายยาของคุณปู่ขวด ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงแต่ยังคงสภาพแบบเดิมไว้ทั้งรายละเอียดและกลิ่นอายแบบเก่า คนรุ่นหลังจะได้มาศึกษาเรียนรู้ความเป็นอยู่ วิถีและสถาปัตยกรรมแบบจีนสงขลาโบราณ” อีกทั้งให้คนทั่วไปได้เข้าชมและยังมีร้านขายของที่ระลึก APO STORE จากฝีมือการออกแบบและผลิตภัณฑ์จากคนในจังหวัดสงขลา เช่น ยาดม ยาหม่อง กระเป๋าจากผ้าทอเกาะยอ

จากนั้นเดินเยี่ยมชมบ้านจีนสามห้อง บริเวณย่านเมืองเก่าสงขลา ซึ่งเป็นบ้านที่มี 3 ห้องติดต่อกันภายในห้องมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องราวในอดีตที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น รูปแบบการ์ดแต่งงาน การ์ดงานบวช ภาพถ่ายเก่าเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของคนในสมัยอดีต ที่บอกเล่าเรื่องราว การจำลองโรงภาพยนตร์ การจ่าลองบรรยากาศร้านฉายาสงขลา สตูดิโอถ่ายรูป และเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่รวบรวมเอกสาร แหล่งเผยแพร่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อีกด้วย

ต่อจากนั้นได้เดินทางโดยรถรางไปยัง Historic Center หรือ “ศูนย์การเรียนรู้ย่านเมืองเก่า คิด บวก ดี” ที่มีประติมากรรม “ชายหาบน้ำ” สะท้อนวิถีชีวิตของชาวสงขลาสมัยก่อน ยืนอยู่ด้านหน้าศูนย์ฯ เพื่อคอยต้อนรับคนที่มาเยี่ยมชมและที่แห่งนี้ยังมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและมีสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมที่มีคุณค่ามากมาย ซึ่งจากเดิมเคยเป็นโรงแรมนางงาม และได้มีการปรับเปลี่ยน ตกแต่งใหม่ให้เป็นศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการอนุรักษ์เมืองสงขลา ตลอดจนเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ชาวสงขลาและนักท่องเที่ยวเห็นคุณค่าของย่านเมืองเก่าสงขลา เกิดความหวงแหนในวัฒนธรรมอันทรง คุณค่าของย่านเมืองเก่าแห่งนี้

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา ภาพ/ข่าว