​ม.อ.ลุยศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาปากร่องน้ำบ้านน้ำเค็ม พังงา ที่ระบบนิเวศน์เปลี่ยนจากสึนามิ


26 ต.ค. 2562

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ แถลงข่าวโครงการทำการศึกษาวิจัยแนวทางในการบริหารจัดการปากร่องน้ำบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา เพื่อเสนอแนวทางในการบริหารจัดการชายฝั่งบ้านน้ำเค็ม มุ่งฟื้นฟูบ้านน้ำเค็ม ควบคู่กับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งบ้านน้ำเค็ม ตามวิถีชีวิตของชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

(25 ต.ค. 62) ณ ห้องประชุม 215 สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ประภาศ เมืองจันทร์บุรี รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและชุมชนสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ , รศ.ดร.มิตรชัย จงเชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , ผศ.ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผศ.พยอม รัตนมณี หัวหน้าโครงการฯ ร่วมกันแถลงข่าว โครงการทำการศึกษาวิจัยแนวทางในการบริหารจัดการปากร่องน้ำบ้านน้ำเค็มจังหวัดพังงา โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนง เข้าร่วมรับฟังอย่างพร้อมเพรียง

ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ กล่าวว่า พันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยคืองานบริการสังคม ม.อ.มี 5 วิทยาเขต มีคณะและหน่วยงานต่างๆ มากมาย มีครบทุกศาสตร์ เมื่อได้รับการร้องขอให้เข้ามาช่วยหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ทางมหาวิทยาลัยก็พร้อมจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถตรงสายงานนั้นๆ ลงพื้นที่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้านทันที

สำหรับการเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่เมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติสึนามิ พ.ศ.2547 ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นสิ่งที่ม.อ.ทำมาตลอด แต่ในครั้งนี้ได้รับการร้องขอจากทางจังหวัดให้เข้ามาศึกษาผลกระทบที่เกิดมาตั้งแต่ครั้งมีพิบัติภัย ทางศูนย์บริการวิชาการม.อ.ได้ใช้งบจำนวนกว่า 3 แสนบาทในการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มอบหมายให้ ผศ.พยอม รัตนมณี เป็นหัวหน้าโครงการฯ




สำหรับชุมชนบ้านน้ำเค็ม ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ประกอบด้วยประชากร 2,202 ครัวเรือน ประกอบอาชีพทำการประมงเป็นหลัก โดยใช้ร่องน้ำคลองตะกั่วป่า เป็นเส้นทางสัญจรและที่จอดเรือประมงในปี พ.ศ.2547 ได้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ในฝั่งทะเลอันดามัน ภัยพิบัติในครั้งนั้นนอกจากจะก่อให้เกิดควมเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องบ้านน้ำเค็มแล้ว คลื่นยักษ์ยังทำลายปากร่องน้ำอันเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการทำมาหากินของชาวบ้านอีกด้วย

โดยคลื่นยักษ์ได้หอบสันดอนทรายเข้ามาในปากร่องน้ำทำให้ร่องน้ำตื้นเขิน และเมื่อสันทรายซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นแนวกันคลื่นที่เป็นแนวธรรมชาติได้ถูกทำลายไป ทำให้คลื่นลมสามารถทะลวงเข้ามาด้านในปากร่องน้ำ คลื่นก่อให้เกิดความเสียหายต่อท่าเทียบเรือ ทรัพย์สิน ชุมชน และป่าชายเลน ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณริมคลองตะกั่วป่าอีกด้วย

ปัญหาดังกล่าว มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และยังขยายผลกระทบออกไปเป็นวงกว้างคลอบคลุมผ่านตำบลเกาะคอเขา จนกระทั่งปัจจุบัน ตะกอนได้ทับถมปากร่องน้ำขึ้นเป็นกองสูงโผล่ขึ้นเหนือน้ำ เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการสัญจรทางน้ำ ตะกอนบางส่วนได้ปิดทับหน้าท่าและท่าเทียบเรือ จนไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป ตะกอนยังทำให้เรือประมงพาณิชย์เกยตื้นสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของอาชีพชุมชน

นอกจากนั้นในช่วงหน้ามรสุม คลื่นจะกระโจมเข้าด้านในคลองตะกั่วป่า ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเรือประมงที่จอดหลบอยู่ด้านใน สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน และทำให้ป่าชายเลนบริเวณริมคลองตะกั่วป่าได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก หากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งต่อวิถีชีวิตของชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมต่อไป

เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยศูนย์บริการวิชาการ จึงได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ดำเนินการศึกษาวิจัย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนมีนาคม 2563 รวมเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเสนอแนวทางในการบริหารจัดการชายฝั่งบ้านน้ำเค็ม โดยการสำรวจสมุทรศาสตร์เพื่อฟื้นฟูบ้านน้ำเค็มจังหวัดพังงาสำหรับใช้เป็นแนวทางในการบริการจัดการร่องน้ำ รวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งบ้านน้ำเค็มต่อไป