เกษตรเขต 5 แจ้งเกษตรกรภาคใต้ เฝ้าระวังสำรวจการระบาดโรคใบร่วงยางพารา
เกษตรเขต 5 แจ้งเกษตรกรภาคใต้ เฝ้าระวังสำรวจการระบาดโรคใบร่วงยางพารา ซึ่งทำให้ผลผลิตลดลงกว่าครึ่ง ใบยางที่ร่วงมีรอยจุดคล้ายโดนความร้อน และพบระบาดอย่างหนักในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้เกิดการระบาดของโรคใบร่วงของยางพาราในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี โดยจังหวัดได้รายงานสถานการณ์เบื้องต้นให้ทราบ พบการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราที่จังหวัดนราธิวาส ใน 8 อำเภอ พื้นที่รวม 277,030 ไร่
โดยเกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. เป็นเชื้อราสาเหตุของโรคใบร่วงที่ไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อน แต่เคยพบการระบาดในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกับทางภาคใต้ของประเทศไทย คือ ร้อนชื้นและฝนตกชุก สามารถพบได้ทุกสายพันธุ์ แพร่ระบาดโดยลมและฝนจึงค่อนข้างยากต่อการป้องกันและควบคุม ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตน้ำยาง หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตน้ำยางลดลงร้อยละ 30–50
ลักษณะอาการของโรคจะปรากฏบนใบยางแก่ จะปรากฏรอยช้ำเป็นกลุ่มเห็นได้ชัดเจนด้านหลังใบ หลังจากนั้นจะแสดงอาการเป็นวงค่อนข้างกลมสีเหลือง ต่อมาเนื้อเยื่อรอยสีเหลืองจะแห้งตายเป็นแผลกลมสีสนิมซีด โดยพบอาการจุดแผลต่อใบยางมากกว่า 1 แผล จากนั้นใบจะเหลืองและร่วงในที่สุด อาการของโรคจะรุนแรงและใบร่วงมากหลังมีฝนตกหนักติดต่อกันอย่างน้อย 2 วัน ต้นยางอายุมากขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าต้นยางอายุน้อยขนาดเล็ก
ซึ่งอาการใบร่วงจากเชื้อราชนิดนี้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตน้ำยาง เนื่องจากมีใบร่วงมากกว่าร้อยละ 90 จึงเป็นเหตุให้ผลผลิตลดลง พบได้ในทุกพันธุ์ยางที่ปลูกในพื้นที่นั้น ได้แก่ พันธุ์ RRIM 600 พันธุ์ RRIT 251 และพันธุ์ PB 311 การแนะนำเบื้องต้นสำหรับการป้องกันกำจัดเกษตรกรควรใส่ปุ๋ยบำรุงดินตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยบาง เพื่อให้ต้นยางพาราสมบูรณ์ แข็งแรง และหากมีการตรวจพบโรคใบร่วง ให้พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรากลุ่มเดียวกับที่ใช้ในการควบคุมโรครากขาวยางพาราให้พ่นสารเคมีกำจัดเชื้อรา อัตราการใช้สารเคมีตามคำแนะนำ ดังนี้ ใช้สาร Thiophanate Methyl พ่นลงพื้นดินบริเวณที่พบเชื้อ หรือใช้สาร Benomyl, Hexaconazole, Thiophanate Methyl, Triadimefon และ Difenoconazole พ่นบริเวณทรงพุ่มยางพารา
นายสุพิท จิตรภักดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้การยางแห่งประเทศเทศไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานเกี่ยวกับโรคใบร่วงยางพารา และให้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานสนับสนุน โดยดำเนินงานในขณะนี้
1. การยางแห่งประเทศไทยและกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกันสำรวจสถานการณ์ และใช้ข้อมูลสถานการณ์เชิงพื้นที่เป็นข้อมูลเดียวกัน
2. การยางแห่งประเทศไทย หาแนวทางป้องกันพื้นที่ปลูกยางที่ยังไม่มีการระบาดของโรคใบร่วง
3. การยางแห่งประเทศเทศไทย จะจัดอบรมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับลักษณะอาการและการสำรวจโรคใบร่วงยางพาราให้กับเจ้าหน้าที่ของการยางแห่งประเทศไทยในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และจังหวัดสตูล ระหว่างวันที่ 13 – 14 พฤศจิกายน 2562 ณ การยางแห่งประเทศไทยสาขาจังหวัดนราธิวาส
ในส่วนของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้เน้นย้ำให้จังหวัดและอำเภอ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่อยู่ในพื้นที่ เฝ้าระวัง เร่งสำรวจพื้นที่การระบาดพร้อมรายงานข้อมูลให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบทุกวันพุธ และออกให้คำแนะนำการป้องกันที่ถูกต้องแก่เกษตรกร ตามคำแนะนำของการยางแห่งประเทศไทย และกรมวิชาการเกษตร