อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ เจ้าภาพจัดประกวดเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ 22 ทีมทั่วไทยร่วมโชว์กึ๋นธุรกิจ
อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ระดับประเทศ ประจำปี 2563 (Research to Market – R2M Thailand 2020) 22 ทีมแกร่งจากทั่วประเทศเข้าร่วมนำเสนอผลงาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คว้ารางวัลชนะเลิศจากผลงานเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกเมล็ดพืช
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ต.ทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีการจัดโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ระดับประเทศ ประจำปี 2563 (Research to Market – R2M Thailand 2020) โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยมี รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย คุณทิพวัลย์ เวชการัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวรายงาน
สำหรับการจัด “โครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ระดับประเทศ ประจำปี 2563 (Research to Market – R2M Thailand 2020)” มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนศึกษาความเป็นไปได้ของผลงานวิจัย นวัตกรรม ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และเตรียมความพร้อมในการนำผลงานดังกล่าวออกสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้เป็นการสร้างโอกาสให้นักวิจัยหรือผู้คิดค้นนวัตกรรม รวมถึงนักศึกษาได้ทดสอบถึงความเป็นไปได้ที่จะนำผลงานวิจัยไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักและสร้างวัฒนธรรมของการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีและลดช่องว่างระหว่างผลงานวิจัยและนวัตกรรมกับการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
โครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ระดับประเทศ ประจำปี 2563 (Research to Market – R2M Thailand 2020) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 โดยมีทีมนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การแข่งขันระดับประเทศในครั้งนี้ จำนวน 22 ทีม จาก 16 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ม.เชียงใหม่ ม.แม่ฟ้าหลวง ม.พะเยา ม.แม่โจ้ ม.นเรศวร ม.ราชภัฎพิบูลสงคราม ม.ราชภัฎอุตรดิตถ์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.มหาสารคาม ม.อุบลราชธานี ม.ขอนแก่น ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.บูรพา ม.สงขลานครินทร์ ม.วลัยลักษณ์ และม.ทักษิณ
ซึ่งผลการแข่งขันมีทีมนักศึกษาที่ได้รับรางวัล ดังนี้
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม "L’effort" จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ด้วยผลงานวิจัย : เครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกเมล็ดพืช
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม CheckMate จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ด้วยผลงานวิจัย : แพลตฟอร์มสำหรับตรวจจับการเป็นสัดในโคนม
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Syntonic จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ด้วยผลงานวิจัย : Stump Pressure Control (SPC)
- รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ ทีม โอม (Aum) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยผลงานวิจัย : Kapillariasis ICT Kit ชุดทดสอบโรคท้องร่วงจากพยาธิแคปิลลาเรียในคน / ทีม 3D Medical จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ด้วยผลงานวิจัย : หุ่นจำลองมาตรฐาน 3D Cancer Phantom และทีม Salmon จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วยผลงานวิจัย : กรรมวิธีการสังเคราะห์ชั้นเคลือบอนุภาคซิลเวอร์นาโนบนพื้นผิวท่อหายใจ
รวมมูลค่ารางวัลที่ได้รับกว่า 100,000 บาท ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ยังถือเป็นการเปิดตัวอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ที่มีการก่อสร้างบนพื้นที่แห่งใหม่อย่างเป็นทางการอีกด้วย โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ พร้อมให้บริการแก่ผุ้สนใจในด้านต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ,การบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรม ,การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชน ,โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการวิจัย ,การพัฒนาศักยภาพและความพร้อมเพื่อยกระดับการแข่งขันอื่นๆ ,การพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการแก่นักศึกษา ฯลฯ สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 074-859500 และทาง www.facebook.com/psu.sciencepark