ส่องผลงาน 3 ท้องถิ่นใหญ่ "ปลัดปฏิบัติหน้าที่นายก" ทำงานเป็นอย่างไรกันบ้าง
นับตั้งแต่การเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลคสช.ปี 2557 จนถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปัจจุบัน ระยะเวลายาวนานกว่า 6 ปีแล้วที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบถูกสต๊าฟไว้โดยผู้บริหารและสมาชิกสภาชุดเดิมทั้งหมด ส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีนายกไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็จะมีปลัดปฏิบัติหน้าที่ผู้นำฝ่ายบริหารแทนไปก่อน
จังหวัดสงขลาบ้านเรา มีหลายท้องถิ่นที่ปลัดปฏิบัติหน้าที่นายก โดยมีท้องถิ่นขนาดใหญ่ถึง 3 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) เทศบาลนครหาดใหญ่ และเทศบาลเมืองบ้านพรุ ที่ผู้นำฝ่ายบริหารลาออกจากตำแหน่งและมีปลัดทำหน้าที่เป็นแม่ทัพแทน วันนี้เลยขอตามไปส่องผลงานของแม่ทัพจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นกันดูว่าเป็นเช่นไรกันบ้าง
นายประพันธุ์ ศรีสุวรรณ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ย้ายมาเป็นปลัดได้ไม่นาน นายกอบจ.นิพนธ์ บุญญามณี ก็ทิ้งเก้าอี้ให้บริหารแทนโดยเจ้าตัวลาออกไปเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ในโควต้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ต้นปี 62 การบริหารของปลัดประพันธุ์ เจ้าตัวก็ประกาศชัดว่าพร้อมทำงานเต็มที่ในฐานะคนสงขลา พร้อมมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิดเต็มที่
ช่วงวิกฤตโควิด-19 ดูเหมือนอบจ.จะถูกตั้งคำถามจากสังคมเยอะเลยว่ามีส่วนช่วยเหลือชาวบ้านอย่างไรบ้าง ความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมมาช้ามากแถมยังมีการเมืองภายใน มีข่าวฉาวกรณีจัดซื้อเจลล้างมือ 5.5 ล้านบาท กว่าจะได้นำสิ่งของออกมาแจกจ่ายโควิดก็ซาไปแล้ว และยังมีการจัดตั้งบประมาณ 18 ล้านบาท เพื่อซื้อข้าวสารแจกชาวบ้านก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มแจกกันเมื่อไหร่ และจะตรงกลุ่มคนเดือดร้อนโดยตรงจริงหรือไม่ รวมทั้งมีกระแสคัดค้านว่าควรเปลี่ยนมาเป็นแจกเงินเพื่อให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนนำไปใช้ตรงวัตถุประสงค์มากที่สุด
การทำงานกับสจ.ในช่วงที่ใกล้มีการเลือกตั้งและเริ่มแบ่งทีมแบ่งฝ่ายกันชัดเจนแล้ว ช่วงนี้อาจต้องเหนื่อยหน่อยสำหรับปลัดประพันธุ์ ศรีสุวรรณ
นายอมร วงศ์วรรณ ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ นายกไพร พัฒโน ลาออกหวังจะไปลงสส.ประชาธิปัตย์ ช่วงก่อนการเลือกตั้งต้นปี 62 แต่ไม่ได้ลงสนามอย่างใจหวังเลยว่างงานอยู่ ณ ปัจจุบัน ทำให้ปลัดเทศบาลต้องสวมหมวก 2 ใบ ทั้งแม่ทัพฝ่ายข้าราชการและฝ่ายบริหาร ซึ่งหลายคนก็มีความห่วงใยว่าเมืองศูนย์กลางของจังหวัดที่ขาดแม่ทัพจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวหรือไม่ หากย้อนดูยุคก่อนมีโควิดทุกโครงการของเทศบาลก็ขับเคลื่อนได้ตามปกติ
ช่วงโควิด-19 เทศบาลนครหาดใหญ่ ก็แข็งขันในการทำงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายก็ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดี ปลัดอมร ก็มีการเปลี่ยนหอประชุมเป็นโรงงานเย็บหน้ากากอนามัยเเพื่อแจกจ่ายชาวบ้าน จับมือไปรษณีย์ในการจัดส่งหน้ากากอนามัยให้ผุ้สูงอายุถึงบ้าน ส่วนการบริหารงานกับสท.ก็ไม่มีข่าวความขัดแย้งอะไร ส่วนหนึ่งเพราะเป็นทีมเดียวกันทั้งหมดและการทำงานของปลัดอมร ก็บริหารแบบประคองเกมส์เพื่อรอเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้แล้วด้วย
สำหรับการเมืองในเขตนครหาดใหญ่ ก็ยังนิ่งๆ ไม่มีการเปิดตัวว่าที่นายกใหม่ที่น่าสนใจ และสท.ส่วนใหญ่ดูแล้วน่าจะยึดติดกับทีมเดิมเลยไม่มีแรงกระเพื่อมอะไร กว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ปลัดอมร วงศ์วรรณ คงได้ทำหน้าที่จนเกษียณ
นายอดิศักดิ์ รัตนะ ปลัดเทศบาลปฎิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองบ้านพรุ หมอวรวัฒน์ ชีวะอิสระกุล ชิงลาออกจากตำแหน่งไปตั้งแต่ปี 59 ปลัดอดิศักดิ์ เลยปฏิบัติหน้าที่ 2 ตำแหน่งมายาวนานจนเกือบครบ 1 วาระแล้ว ด้วยพื้นเพเป็นคนบ้านพรุ ขยัน เรียบง่าย และเมืองบ้านพรุ ก็มีความพร้อมในหลายด้านทำให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสานต่องานในฐานะแม่ทัพฝ่ายบริหาร งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า เก็บขยะ ถือว่าสอบผ่าน
ช่วงโควิด-19 ปลัดอดิศักดิ์ ต้องทำงานหนักหน่อยเพราะเขตบ้านพรุ มีผู้ติดเชื้อรายแรกๆ ของจังหวัดด้วย การลุยทำความสะอาด การกักกันผู้ป่วยถือว่าทำได้ดีมีส่วนสำคัญที่ทำให้บ้านพรุ ไม่มีผู้ติดเชื่อรายใหม่ การประสานส่วนราชการที่มีการใช้พื้นที่สนามพรุค้างคาวเป็นที่กักกันผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังเมืองบ้านพรุก็ทำได้ดี แต่การขับเคลื่อนตลาดน้ำบ้านพรุ ดูเหมือนจะสะดุดและคงต้องรอนายกตัวจริงคนใหม่มากำหนดชะตาว่าจะเอาอย่างไรกันต่อดี
การเมืองบ้านพรุ เริ่มมีความชัดเจนแล้วว่ามี 3 ทีมที่จะลงแข่งขันกัน สท.เริ่มมีการแบ่งสังกัดรวมขั้วย้ายฝั่งกันบ้างแล้ว แต่คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ในการทำงานของมืออาชีพอย่างปลัดอดิศักดิ์ รัตนะ