ม.อ.แจงกรณีให้งดใช้พัดลมไอน้ำในหอผู้ป่วยเป็นการแจ้งเตือนภายในเท่านั้น
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) แจงกรณีให้งดใช้พัดลมไอน้ำในหอผู้ป่วยของโรงพยาบาล เป็นเพียงแค่การสื่อสารภายในเท่านั้น และการห้ามใช้พัดลมไอน้ำหรือพัดลมไอเย็น เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อคนไข้ที่มีภูมิต้านทานต่ำและผู้สูงอายุ ขณะที่ทางโรงพยาบาลเองก็มีระบบถ่ายเทอากาศดีและได้มาตรฐานอยู่แล้ว ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถใช้งานพัดลมไอน้ำหรือพัดลมไอเย็นได้ตามปกติ
เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. วันที่ 16 พ.ค. 59 ที่ห้องประชุม 201 อาคารโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. พร้อมด้วย ผศ.นพ.ธนะรัตน์ บุญเรือง ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ม.อ. ร่วมกันแถลงชี้แจงหลังมีการส่งต่อบันทึกข้อความที่ ม.อ.392.1/080 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 กรณีหน่วยควบคุมการติดเชื้อได้รับปรึกษาการขอใช้พัดลมไอน้ำหรือไอเย็นในหออภิบาลผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ (Respiratory Care Unit-RCU) และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้มีข้อแนะนำให้งดใช้พัดลมไอน้ำหรือไอเย็นในหอผู้ป่วย และหน่วยงานภายในโรงพยาบาลฯนั้น
ผศ.นพ.ธนะรัตน์ บุญเรือง ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ม.อ. เผยว่า ทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ขอยืนยันว่าหนังสือดังกล่าวเป็นเพื่อการสื่อสารภายใน ในบริบทของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เท่านั้น มิได้เป็นการสื่อสารต่อสาธารณะแต่อย่างใด พร้อมกับชี้แจงเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีบริบทที่สำคัญในการรักษาโรคยากและซับซ้อน และโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลต่างๆในภาคใต้ ซึ่งในแต่ละปีมีผู้มารับบริการแบบผู้ป่วยนอกประมาณ 1 ล้านครั้ง และผู้ป่วยในประมาณ 40,000 คน ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้จำนวนมากเป็นผู้ป่วยหนัก มีภูมิต้านทานต่ำ และสามารถติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยในหออภิบาลผู้ป่วย (ICU) ต่างๆ
ซึ่งทางคณะกรรมการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นกลไกหลักในการกำกับดูแลขั้นตอนกระบวนการทำงานในโรงพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ โดยได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ควรใช้พัดลม ซึ่งก่อละอองฝอยในโรงพยาบาล เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเป็นแหล่งแพร่เชื้อลีเจียนแนร์ หากไม่ได้รับการดูแลบำรุงรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากเชื้อดังกล่าวกำจัดได้ยาก ประกอบกับพื้นที่ในโรงพยาบาลเป็นสถานที่ปิด และเป็นที่อยู่ของผู้ป่วยจำนวนมาก ย่อมมีโอกาสเสี่ยงต่อผู้ป่วยมากขึ้น ทั้งนี้โรงพยาบาลได้กำกับดูแลการถ่ายเทและคุณภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และมีความเหมาะสม จึงไม่มีความจำเป็นในการใช้ระบบปรับอากาศในรูปแบบต่างๆ จากภายนอกโรงพยาบาล โดยเฉพาะพัดลมไอน้ำหรือพัดลมไอเย็น
ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ม.อ. เปิดเผยอีกว่า สำหรับข้อกังวลเรื่องการใช้พัดลมไอน้ำหรือพัดลมไอเย็นของประชาชนทั่วไปนั้น ทางโรงพยาบาลยืนยันว่า เป็นคนละประเด็น และคนละสถานการณ์กับบันทึกข้อความดังกล่าว โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่ออกสู่ประชาชนนั้น ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่แล้ว ย่อมมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และควรใช้ตามคำแนะนำและข้อปฏิบัติที่เหมาะสม เช่น การใช้ในที่โล่ง ไม่ปิดอับ รวมทั้งหมั่นดูแลทำความสะอาดภาชนะ หรือระบบเก็บน้ำ และการใช้น้ำสะอาด หรือมีการไหลเวียนที่ดี เป็นต้น ย่อมมีความปลอดภัย ทั้งนี้ข้อแนะนำเพิ่มเติม คือ เลี่ยงการใช้พัดลมเหล่านี้กับผู้มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ โรคปอด หัวใจ มะเร็ง หรือได้รับยากดภูมิ หากมีความจำเป็นต้องใช้ ควรได้รับคำแนะนำ และกำกับการใช้อย่างใกล้ชิด