เปิดตัวยางพาราสายพันธุ์ใหม่ RRIT 3904 กยท.ส่งเสริมการปลูกพืชร่วมลดความเสี่ยงด้านราคา
กยท.แนะนำยางสายพันธุ์ใหม่ RRIT 3904 วิจัยและพัฒนามาตั้งแต่ปี 39 พบให้ผลผลิตมากกว่ายางที่เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกอยู่มากกว่า 1 เท่าตัว แข็งแรง ทนต่อโรคดีกว่า กยท.ใต้ล่าง เน้นส่งเสริมการปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นเพื่อลดความเสียงด้านราคาที่ผันผวน ขณะที่เจ้าของแปลงกล้ายางเผยขายไปแล้วเกือบล้านกล้า ยอดขายดีผลิตไม่ทันลูกค้าต้องสั่งจองล่วงหน้าเท่านั้น
อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นอำเภอที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม และเป็นอำเภอที่มีการปลูกยางพารามากที่สุดในจังหวัดสงขลา แม้ราคายางในหลายปีที่ผ่านมาจะมีความผันผวนค่อนข้างเยอะ แต่ยังมีแปลงยางใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่ทดแทนยางเก่ามีอยู่อย่างต่อเนื่อง การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. หน่วยงานหลักในการดูแลยางพารายางพาราทั้งระบบ ได้มีการปรับแนวทางการสงเคราะห์ยางพาราใหม่ ให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชนิดอื่นร่วมกับยางมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวน และเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ในการทำเกษตรภายใต้แนวคิด "โคก หนอง ยาง เกษตรกรรมยั่งยืน" พร้อมลงพื้นที่พบปะกลุมเกษตรกรชาวสวนยางอำเภอสะเดาด้วย
ยางพารา ที่เกษตรกรปลูกอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ RRIM 600 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า600 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการพัฒนามาเกือบ 100 ปีแล้ว และสายพันธุ์อื่นๆ ผสมผสานกัน การพัฒนายางสายพันธุ์ใหม่ของสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ต้องใช้เวลาในการผสมสายพันธุ์ รวบรวม ทดลองปลูกและเปิดกรีดเก็บเกี่ยวผลผลิต จึงจะสามารถรับรองสายพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกได้ โดยการรับรองจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ชั้น 1 คือสายพันธุ์ที่พัฒนามานานสามารถส่งเสริมให้ปลูกเต็มพื้นที่ได้ ชั้น 2 สายพันธุ์ที่พัฒนาในระดับกลางส่งเสริมให้ปลูกได้ 70% ของพื้นที่ครอบครอง และชั้น 3 สายพันธุ์ที่พัฒนาใหม่ ส่งเสริมให้ปลูกได้ 50% ของพื้นที่ครอบครอง
ดร.กฤษดา สังสิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ผู้ศึกษาและพัฒนาสายพันธุ์ยางมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวถึงพันธุ์ยาง RRIT 3904 ชื่อเต็มคือ สถาบันวิจัยยาง 3904 มีการเริ่มต้นพัฒนาสายพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2539 ที่ฉะเชิงเทรา โดยการผสมสายพันธุ์ระหว่างตัวแม่คือ RRII 2033 พ่อคือ PB 235 ซึ่งจากการทดลองปลูกพบว่าเจริญเติบโตดี ต้านทานโรคได้ดีกว่า การเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์ RRIM 600 พบว่าให้ผลผลิตมากกว่า 2 เท่า โดยการนำมาทดลองปลูกพื้นที่ภาคใต้ที่แปลงทดลองสุราษฎร์ธานี พบว่าเจริญเติบโตดีเหมาะสมกับพื้นที่จึงได้มีการขยายไปทดลองในพื้นที่ื่อื่นๆ และรับรองสา่ยพันธุ์ให้เกษตรกรนำมาปลูกได้ โดยปัจจุบันอยู่ชั้น 3 สายพันธุ์ที่พัฒนาใหม่ ส่งเสริมให้ปลูกได้ 50% ของพื้นที่ครอบครอง
ทางด้านนายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เขตภาคใต้ตอนล่าง กล่าวเสริมว่า การพัฒนายางสายพันธุ์ใหม่เพื่อส่งเสริมให้ชาวสวนปลูกเป็นสิ่งที่ดี แต่เพื่อความยั่งยืนทางอาชีพ กยท.ได้มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 เป็นต้นไป ให้เกษตรกรสามารถปลูกยางร่วมกับพืชชนิดอื่นที่เป็นไม้ยืนต้น หรือเลี้ยงสัตว์ผสมผสานในพื้นที่แปลงยางได้ จากที่เคยปลูกยางไร่ละ 70 ต้น อาจลดมาเหลือ 40-50 ต้น เพื่อเว้นพื้นที่ในการปลูกพืชแซมซึ่งมีการรับรองให้ปลูกได้เกือบ 100 ชนิดทั้งไม้ผลและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เลี้ยงสัตว์ ขุดบ่อปลา ก็สามารถทำได้เหมือนกัน
"จากการทดลองปลูกยางให้ห่างขึ้นพบว่าทำให้ยางต้นใหญ่ ทรงพุ่มโต ยางที่ปลูกไร่ละ 40-50 ต้น ให้ผลตที่ใกล้เคียงหรือมากกว่าการปลูก 70 ต่อไร่เหมือนในอดีต ชาวสวนยางสามารถขอรับคำแนะนำด้านการปลูกยางรูปแบบใหม่ได้ที่สำนักงาน กยท.ใกล้บ้านได้แล้ว"
โกจิ้น นายวิศิษฐ์ สถิตเกษตรศรี เกษตรกรผู้ผลิตพันธุ์ยาง RRIT 3904 เพื่อจำหน่าย ในพื้นที่ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เจ้าของแปลงพันธุ์ยางที่ได้รับการรับรองจาก กยท. เกษตรกรผู้ชอบการศึกษาทดลอง กล่าวว่าหลังจากได้รับการแนะนำพันธุ์ยาง RRIT 3904 ก็ได้ศึกษาและนำมาทดลองปลูกในสวนตนเอง พร้อมผลิตกล้าพันธุ์เพื่อจำหน่าย โดยได้รับการส่งเสริมและแนะนำอย่างดีจาก กยท.สะเดา ระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่เริ่มผลิตกล้ายางพันธุ์ RRIT 3904 เพื่อจำหน่ายมีการขายไปแล้วเกือบ 1 ล้านกล้า และยังไม่เพียงพอกับความต้องการลูกค้าต้องสั่งจองล่วงหน้าเท่านั้น โดยปัจจุบันกล้ายางตาเขียวขายอยู่ที่ต้นละ 35 บาท ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ โกจิ้น โทร 082-3851751
ยางพารา เป็นพืชที่ต้องใช้เวลาในการปลูก 6-7 ปีกว่าจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลิตได้ และสามารถกรีดได้ไปจนถึง 25-30 ปี ถือเป็นพืชที่ต้องใช้เวลานานในการปลูกและดูแล เกษตรกรจึงต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนการตัดสินใจปลูกยางพารา รวมถึงศึกษาการปลูกพืชผสมผสาน พืชร่วมยาง เพื่อลดความเสี่ยงด้านราคาที่ไม่แน่นอน สำหรับผู้ที่สนใจพันธุ์ยาง RRIT 3904 และการทำสวนยางพารารูปแบบใหม่ภายใต้แนวคิด "โคก หนอง ยาง เกษตรกรรมยั่งยืน" สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงาน กยท. สาขาใกล้บ้าน
ต้อม รัตภูมิ รายงาน 0897384215 รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น