​ม.ทักษิณโพล ชี้ชาวนครหาดใหญ่ 39% ตัดสินใจเลือกนายกเทศมนตรีคนใหม่แล้ว


9 มี.ค. 2564

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวนธง ครุฑจ้อน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและชุมชนสัมพันธ์ สงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดเผยว่า ท่ามกลางกระแสการหาเสียงเลือกตั้งของเทศบาลทั่วประเทศอย่างคึกคักและในฐานะที่มหาวิทยาลัยทักษิณ มีความเข้มแข็งทางวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่นและการบริหารท้องถิ่นมากว่า 15 ปี ภายใต้การจัดการเรียนการสอนของสาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ประกอบกับภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยที่ต้องให้บริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม จึงได้จัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ที่มีต่อการเลือกตั้งเทศบาลนครหาดใหญ่ 2564 ขึ้น

การสำรวจความคิดเห็นการเลือกตั้งเทศบาลนครหาดใหญ่ครั้งนี้ จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 มีนาคม 2564 ในพื้นที่เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ สำรวจกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปและมีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ กระจายทุกกลุ่มเพศ ศาสนา อายุ อาชีพ และระดับการศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 400 คน โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นอยู่ที่ร้อยละ 95.0

ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนติดตามข่าวสารการเลือกตั้งเทศบาลนครหาดใหญ่ จากสื่อประชาสัมพันธ์ อาทิ รถแห่ แผ่นพับ ป้ายหาเสียง มากที่สุด ร้อยละ 42.5 รองลงมาคือ สื่อออนไลน์ อาทิ เฟสบุ๊ค เว็บไซต์ ไลน์ ร้อยละ 34.0 สื่อบุคคล อาทิ การหาเสียงของผู้สมัคร ญาติ เพื่อน ร้อยละ 17.5 และสื่อมวลชน อาทิ วิทยุ โทรทัศน์ ร้อยละ 6.0 ตามลำดับ

ปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการตัดสินใจเลือกนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ในครั้งนี้คือ นโยบาย ร้อยละ 54.5 รองลงมาคือ ตัวบุคคล ร้อยละ 22.0 ผลงานในอดีต ร้อยละ 18.3 ทีมงาน ร้อยละ 4.7 อื่น ๆ อาทิ ทุกอย่างรวมกัน ร้อยละ 0.5 ตามลำดับ ส่วนการเลือกสมาชิกสภาเทศบาลนครหาดใหญ่ (ส.ท.) เห็นว่า เลือกเป็นทีม ร้อยละ 51.8 และเลือกเป็นรายบุคคลจากหลายทีม ร้อยละ 48.2

นอกจากนี้ประชาชนความคาดหวังต่อนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่คนใหม่ในการพัฒนาเรื่องสำคัญของเทศบาลนครหาดใหญ่ตามลำดับ ดังนี้

1. ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ร้อยละ 61.8

2. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (ถนน ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ) ร้อยละ 18.3

3. ด้านการสาธารณสุข (สุขภาพ สภาพแวดล้อม) ร้อยละ 10.0

4. ด้านการศึกษา ร้อยละ 6.0

5. ทุกด้าน ร้อยละ 2.7

6. ด้านประเพณีและวัฒนธรรม ร้อยละ 1.0

7. ด้านยาเสพติด ร้อยละ 0.2

สำหรับประเด็นสำคัญของผลการสำรวจในครั้งนี้คือ การตัดสินใจของประชาชนชาวนครหาดใหญ่ต่อการเลือกนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ พบดังนี้

1. ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร ร้อยละ 56.0

2. ตัดสินใจเลือกผู้สมัครนายกเทศมนตรีแล้ว ร้อยละ 39.0

3. ลงคะแนนเสียงไม่เลือกใคร (vote no) ร้อยละ 3.2

4. ไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ร้อยละ 1.8