ปลูกพืชร่วมยางสร้างธนาคารต้นไม้ กยท.หนุนชาวสวนมีรายได้ที่ยั่งยืนมั่นคง
พืชร่วมยาง คือพืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกร่วมภายในสวนยางได้ไม่ว่าจะเป็นไม้ยืนต้น ผลไม้ ไม้เศรษฐกิจชนิดต่างๆ ที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท.ได้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์ให้เกษตรกรสามารถขอรับทุนสงเคราะห์ในการปลูกยางร่วมกับพืชชนิดอื่น ขอทุนปลูกปาล์ม ปลูกผลไม้ หรือไม้เศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ได้ด้วยไม่ใช่ปลูกได้แค่ยางพาราเหมือนในอดีต
พื้นที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกยางพารามากที่สุดในจังหวัด กยท.เขตภาคใต้ตอนล่าง ภายใต้การนำของนายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง ได้มอบหมายให้กยท.แต่ละพื้นที่ทำความเข้าใจกับเกษตรกรที่มาขอรับทุนสงเคราะห์ยางพารา ว่าในปัจจุบันนั้นไม่จำเป็นต้องปลูกยางเพียงอย่างเดียว ควรแบ่งพื้นที่ไว้ปลูกพืชชนิดอื่นๆ เพื่อเป็นการถัวเฉลี่ยรายได้ และป้องกันความเสี่ยงจากราคายางพาราที่ผันผวน
การปลูกพืชร่วมยางเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ และกยท.ส่งเสริมให้เกษตรกรทำมาหลายปีแล้วโดยเริ่มเห็นผลในหลายพื้นที่ วันนี้กยท.ใต้ล่าง และกยท.สะเดา พร้อมด้วยนายณัฐพล เพ็ชรพิมล ผู้จัดการธกส.สาขาสะเดา ได้นำลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนของนายสุพัฒน์ เตชะโต เกษตรกรต้นแบบในพื้นที่ตำบลสำนักแต้ว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบที่มีการทดลองเลือกพันธุ์ไม้หลายชนิดมาปลูกร่วมกับยางพารามาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี และเริ่มเห็นผลชัดเจน ยางพาราก็ให้ผลผลิตเปิดกรีดได้แล้ว พืชร่วมยางก็มีมูลค่าสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับธกส.ได้แล้ว
ภายในสวนยางพาราของนายสุพัฒน์ มีพืชร่วมยางหลายชนิดที่เจ้าของสวนได้นำมาปลูกควบคุ่กับยางพารา อาทิ ไม้แดง ไม้ประดู่ป่า ไม้กรรเกรา มะฮอกกานี ต้นพะยุง มีอายุประมาณ 7 ปี โดยปลูกหลังยางพารา 2 ปี (ยางพาราอายุ 9 ปี) โดยไม้โตปานกลางอย่างไม้แดงและมะฮอกกานี มีการเติบโตที่รวดเร็ว ขนาดลำต้นใกล้เคียงยางพาราและมีมูลค่าสูง โดยเฉพาะไม้แดง ที่มีเส้นรอบวง 72 ซม.มีราคาประเมินสูงถึง 7,766 บาท และยังโตเร็ว ลำต้นสูงโปร่ง ใบที่ร่วงช่วยปกปิดผิวดินใช้ชุ่มชื้นและเป็นปุ๋ยธรรมชาติชั้นดีอีกด้วย ต้นมะฮอกกานีก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน ส่วนต้นพะยูงและกรรเกรา เป็นพืชโตช้ายังมีลำต้นขนาดเล็กและมูลค่าไม่สูงมากแต่ก็เป็นประโยชน์ในระยะยาวเพราะเป็นไม้ที่มีราคาสูง
นายณัฐพล เพ็ชรพิมล ผู้จัดการธกส.สาขาสะเดา กล่าวว่า ธกส.มีโครงการตามแนวพระราชดำริ ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกป่า ปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดภาวะโลกร้อน และเกษตรกรสามารถนำต้นไม้มาเป็นหลักทรัพย์ในการกู้เงินจากธกส.ได้โดยสามารถกู้ได้ 50% ของราคาประเมินต้นไม้ อย่างสวนของคุณสุพัฒน์ มีไม้ร่วมยางหลายชนิดสามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้ เพิ่มวงเงินเพิ่มมูลค่าและเป็นธนาคารของเกษตรกรที่สามารถขายได้เงินก้อนใหญ่เมื่อไม้โตเต็มวัย เรียกได้ว่าเป็นกระปุกออมสิชั้นดีของชาวสวนยางเลยครับ
ด้านนายสุพัฒน์ เตชะโต เกษตรกรต้นแบบบอกว่าลองผิดลองถูกมานานกว่าจะได้พืชร่วมยางที่เหมาะสม ส่วนตัวเป็นคนชอบศึกษาหาความรู้หาข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ การปลูกยางพาราแม้จะทำให้เรามีรายได้อยู่แล้วแต่ในระยะเวลา 20-30 ปี ถ้ารอขายไม้ยางพาราอย่างเดียวก็น่าเสียดาย พืชร่วมยางเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดส่วนจะปลูกไม้ชนิดไหนก็ลองศึกษาข้อมูลกันดูด้วยตัวเอง หรือขอความรู้จากกยท.จากธกส.ซึ่งปัจจุบันแหล่งข้อมูลหาง่ายมาก โดยเฉพาะเจ้าของสวนที่กำลังจะปลุกยางใหม่ ขอแนะนำว่าอย่าปลูกยางเพียงอย่างเดียวเสียดายพื้นที่ครับ
นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการขอทุนสงเคราะห์ปลูกยางพาราสามารถทำได้ 3 รูปแบบ คือ
1.การขอปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดี (ต้องได้รับการรับรองสายพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร และสถาบันวิจัยยางเท่านั้น) ปลูกได้ทั้งแบบยางชำถุง และเพาะเมล็ดแล้วติดตาด้วยยางพันธุ์ดี
2.ปลูกทดแทนด้วยไม้ยืนต้นชนิดอื่นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ อาทิ ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน เงาะ จำปาดะ ไม้ยืนต้นเพื่อแปรรูป
3.ปลูกแทนแบบเกษตรกรรมยั่งยืน คือการปลูกยางพาราพันธุ์ดีเป็นหลัก ควบคู่กับไม้สำคัญทางเศรษฐกิจซึ่งมีกว่า 50 ชนิด ซึ่งสามารถขอข้อมูลรายชื่อพันธุ์ไม้ ขอความรู้เพิ่มเติม คำปรึกษาต่างๆ ได้ที่กยท.ทุกสาขา
ในวิถีที่เปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน การทำอาชีพเดียวไม่อาจรับประความมั่นคงของชีวิต อาชีพเกษตรกรชาวสวนยางก็เช่นเดียวกัน เรากำหนดราคาขายเองไม่ได้ หน้าแล้งยางก็ผลัดใบ หน้าฝนยางก็กรีดได้น้อย พืชร่วมยางเปรียบเหมือนกระปุกออมสิน เป็นแหล่งเงินก้อนโตที่เราสามารถนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จากธกส. และเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลกเราด้วย ลองศึกษาข้อมูลกันดูเพื่อเป็นทางเลือกดีๆ ให้กับตัวท่านเอง
นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง
นายณัฐพล เพ็ชรพิมล ผู้จัดการธกส.สาขาสะเดา
นายสุพัฒน์ เตชะโต เกษตรกรต้นแบบ
ชัยประสิทธิ์ ไชยมงคล (ต้อม รัตภูมิ 0897384215) รายงาน