​"บุหรี่ไฟฟ้า...อันตรายกว่าบุหรี่มวน" เวทีวิชาการภาคใต้ไม่เห็นด้วยให้เป็นสินค้าถูกกฎหมาย


3 ธ.ค. 2564

การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพภาคใต้ ปี 2564 "บุหรี่ไฟฟ้า...กับอนาคตประเทศไทย" หมอ นักวิชาการ ไม่เห็นด้วยกับการผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าถูกกฎหมาย ชี้โทษร้ายแรงกว่าบุหรี่มวน สารเสพติดที่ใส่ลงไปอาจมีมากกว่าแค่นิโคติน กลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนชัดเจน แนะนำผู้ปกครองดูแลบุตรหลานใกล้ชิดเพราะบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีกลิ่นติดตัวเหมือนสูบบุหรี่มวน


เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ณ โรงแรมคริสตัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ภาคใต้ โดยสาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพภาคใต้ ปี 2564 ปีนี้กำหนดหัวข้อการประชุมเพื่อนำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่น่าสนใจว่า "บุหรี่ไฟฟ้า...กับอนาคตประเทศไทย" โดยมี ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมทั้งทางระบบ Onsite และทางระบบ Online ตามมาตรการป้องกันโควิด-19

รศ.ดร.พญ.รัศมี โชติพันธุ์วิทยากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประธานกรรมการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ภาคใต้ กล่าวต้อนรับและบรรยายเรื่อง "บุหรี่ไฟฟ้ากับอนาคตเยาวชนไทย" โดยได้กล่าวถึงการกำหนดหัวข้อการประชุมปี 2564 ได้เน้นย้ำเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากับอนาคตประเทศไทย เพราะบุหรี่ไฟฟ้ากำลังเป็นภัยคุกคามใหม่ที่ทำลายสุขภาพคนไทยที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนอย่างชัดเจน แม้ทางบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าจะอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตรายบ้าง มีโทษน้อยกว่าบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้คนเลิกบุหรี่มวนได้ บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายที่เยาวชน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเฟคนิวส์หรือข่าวเท็จเพื่อพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้บุหรี่ไฟฟ้าทั้งสิ้น

บุหรี่ไฟฟ้ากับเยาวชนเป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนสินค้าแฟชั่นที่ออกแพ็คเก็จมาสวยงาม มีสีมีกลิ่นให้เลือกหลากหลาย ไม่ได้มีกลิ่นเหม็นเหมือนกับการสูบบุหรี่มวน แม้จะเป็นสินค้าผิดกฎหมายไม่วางขายตามร้านค้าแต่สามารถซื้อได้ผ่านระบบออนไลน์สั่งซื้อง่ายบริการส่งถึงที่ มีการแชร์สรรพคุณกันแบบผิดๆ ว่าเป็นของดีแก้เครียดไม่มีอันตราย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวกระตุ้นต่อมอยากรู้อยากลองของวัยรุ่น และหากผู้ปกครองไม่สังเกตุให้ดีก็จะไม่รู้เลยว่าบุตรหลานของเราติดบุหรี่ไฟฟ้า เพราะบางครั้งมีกลิ่นเหมือนน้ำหอม กลิ่นผลไม้ ไม่ได้เหม็นเหมือนกับการสูบบุหรี่มวน

ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ได้บรรยายในหัวข้อ "ผลกระทบต่อสุขภาพอันเกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า" โดยยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเอาสารสกัดนิโคตินจากใบยาสูบมาผสมในน้ำ โดยมีตัวทำละลายเพื่อให้น้ำมันที่ใช้สกัดสามารถกระจายอยู่ในน้ำได้และเติมกลิ่นจากสารสกัดดอกไม้และผลไม้ ทำให้มีกลิ่นหอมเพิ่มความนิยมในกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ได้เป็นอย่างดี บางครั้งสารสกัดที่ผสมลงไปอาจมีส่วนผสมของยาเสพติดชนิดที่ร้ายแรงกว่าก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

"นิโคตินเป็นสารเสพติดที่อยู่ในน้ำยาที่ใช้ควบคู่กับบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อใช้กระบวนการเผาไหม้จากขดลวดให้ความร้อน จะมีสารก่อมะเร็งหลายชนิดเกิดขึ้นด้วย ซึ่งอาจมีมากกว่าบุหรี่มวนด้วยซ้ำ"

"ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า" บรรยายพิเศษแบบออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM โดย ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เน้นย้ำถึงการพยายามให้ข่าวของบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าว่าไม่มีอันตราย แต่ความจริงมันโคตรอันตรายเลยเพราะในส่วนผสมที่เราซื้อมาเราไม่รู้เลยว่ามีอะไรเจือปนมาบ้าง อาจมีสารเสพติดชนิดที่ร้ายแรงกว่าที่มีในบุหรี่มวนทั่วไปก็ได้ และที่บอกว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ใช่เยาวชนอันนี้ยิ่งไม่จริงเพราะรูปลักษณ์การออกแบบทำเหมือนสินค้าแฟชั่นจึงไม่แปลกที่ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในวัน 15-24 ปี และยังเป็นผู้หญิงอีกด้วย

ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมในหัวข้อ "บุหรี่ไฟฟ้า ภัยคุกคามใหม่ของปัญหาสาธารณสุข" กล่าวถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงว่าวันนี้บริษัทบุหรี่ไฟฟ้ากำลังรุกหนักที่จะให้รัฐบาลอนุญาตให้การขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยทำได้อย่างถูกกฎหมาย รัฐมนตรี ส.ส.บางคนเริ่มเห็นดีเห็นงามกับบริษัทเหล่านี้แล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าเพราะใกล้ถึงเวลาเลือกตั้งแล้วหรืออย่างไรถึงได้ออกมาสนับสนุนเรื่องนี้

"อยากบอกไปถึงรัฐมนตรีบางกระทรวงที่ออกมาสนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย กระทรวงของคุณมีหน้าที่ดูแลการขายสินค้าออนไลน์ที่ผิดกฎหมายโดยตรง ทำไมไม่ไปทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีวันนี้บุหรี่ไฟฟ้ามีขายกันทั่วในสื่อออนไลน์ แทนที่รัฐมนตรีจะกำชับให้ปราบปรามกลับออกมาส่งเสริมให้ถูกกฎหมายฟังดูย้อนแย้งกันอยู่น่ะ"

ขอย้ำว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายสำหรับประเทศไทย "ผู้ลักลอบนำเข้าจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีจำหน่ายจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีผู้สูบหรือมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วย หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ในเวทีประชุมยังมีการบรรยาย "การใช้บุหรี่ไฟฟ้าและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของเยาวชนไทยในสถานศึกษาในภาคใต้ โดย รศ.ดร.ฤทัยชนนี สิทธิชัย จากคณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.อ.ปัตตานี "การสำรวจการสูบบุหรี่ในตลาด และรถโดยสารสาธารณะ อ.เมืองสงขลา โดย รศ.ดร.จุฑารัตน์ สถิรปัญญา จากสาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวฯ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่ เรื่อง "พฤติกรรมการบริโภคยาสูบระหว่างการกักตัวในสถานการณ์การระบาดของโควด-19" โดยคุณตีหรอห๊ะ ดนหรอหมาน ฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมดิจิทัล

"เลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน" โดยคุณลุกมาน กูนา มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย "การสำรวจพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ 4 ภูมิภาคของประเทศไทย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3" โดยคุณนาริสา หะยีวานิ สาขาระบาดวิทยา "การประเมินเสริมพลังโดยใช้แผนที่ผลลัพธ์สำหรับการดำเนินงานควบคุมยาสูบในระดับชุมชนท้องถิ่นของเครือข่ายสุขภาพที่ผ่านการอบรมและพัฒนาศักยภาพในเขตบริการสุขภาพที่ 12" โดย ดร.ซอฟิยะห์ นิมะ สถาบันการนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ปิดท้ายด้วยการ "ประชุมระดมสมองเพื่อการพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าภาคใต้" ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมทั้งภายในห้องและผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่ากการทำสื่อที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะเยาวชน ต้องใช้สื่อที่ง่าย กระชับ เข้าใจได้รวดเร็ว และเข้าถึงในทุกช่องทางสื่อออนไลน์ที่เป็นที่นิยม ทั้ง Tiktok Instagram Line Facebook และทุกสื่อที่วัยรุ่นนิยมใช้กันผู้ใหญ่ต้องตามให้ทัน ต้องใช้เยาวชนมาเป็นคนช่วยในการทำสื่อเหล่านี้ให้มากขึ้น