นักธุรกิจสงขลา หนุนโครงการนิคมฯจะนะ เชื่อสร้างผลดีต่อเศรษฐกิจภาคใต้ตอนล่าง
กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงสำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้า อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายไม่เห็นด้วยออกมายื่นหนังสือ ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ ในส่วนของภาคธุรกิจในจังหวัดสงขลาก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
คุณวรวิทย์ พงษ์จีน ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท นีโอ กรุ๊ป นักธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเกษตรในพื้นที่จังหวัดสงขลา ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งตนเองไม่ได้มีส่วนร่วมไม่มีผลประโยชน์ใดๆ กับโครงการนี้ แต่ได้ศึกษาข้อมูลจากเอกสารการนำเสนอโครงการเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี เป็นเมกกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในภาคใต้มานานมากแล้ว ในฐานะนักธุรกิจที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของหาดใหญ่มาหลายยุคหลายสมัย คิดว่าถึงเวลาที่ควรมีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาเปลี่ยนแปลงจังหวัดสงขลา และเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างโดยรวมด้วย
โดยคุณวรวิทย์ กล่าวว่า "ตัวจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษกิจของจังหวัดสงขลาคือการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมานาน ซบเซามานาน และเมื่อมาเจอโรคระบาดโควิด-19 ตัวจักรตัวนี้แถบขับเคลื่อนไม่ได้เลย ตัวจักรที่2 คือกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตน้ำมันในอ่าวไทย เมื่อก่อนจังหวัดสงขลาเป็นฐานในการดูแลแท่นขุดเจาะแต่เมื่อเชฟรอนไม่ได้รับสัมปทาน ฐานเหล่านี้ก็ย้ายไปอยู่ภาคกลาง และตัวจักรด้านอุตาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตรโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน เป็นตัวเดียวที่ยังดีและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาให้พอไปได้
โปรเจกต์นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ถือเป็นโปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในจังหวัดสงขลา เท่าที่ศึกษาดูโครงนี้แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ
- ส่วนแรก โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึก เป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ 3 ท่า ซึ่งจะมาแทนท่าเรือสงขลาที่ไม่สามารถขยายให้รองรับการขนส่งขนาดใหญ่ได้ หากมีท่าเทียบเรือน้ำลึกที่เต็มศักยภาพจริงๆ จะเป็นผลดีต่อภาคใต้โดยรวมเพราะปัจจุบันการส่งออกเราต้องใช้ท่าเรือปีนังเป็นฐานส่งออกทำให้มาเลเซียได้ผลประโยชน์มหาศาล มูลค่าสินค้าปีละ4-5แสนล้านที่เราต้องขนผ่านด่านสะเดาเพื่อไปขึ้นท่าเรื่อปีนังแล้วส่งไปยังตลาดโลก หากมีท่าเรือของเราเองผลประโยชน์เหล่านี้ก็จะตกเป็นของประเทศไทย โดยพื้นที่ชายฝั่งทะเลอาจได้รับผลกระทบบ้างในช่วงก่อสร้างแต่เมื่อสร้างเสร็จก็จะเกิดประโยชน์ด้านการประมงด้วย
- ส่วนที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้า เท่าที่ศึกษาดูโครงการเขามีหลายรูปแบบมาก ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขยะที่เผาไหม้ได้อย่างหมดจด ผ่านระบบการคัดแยกที่มีประสิทธิภาพ คัดแยกขยะแต่ละประเภทมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขยะที่เผาไหม้ได้ก็จะแยกเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ส่วนเศษน้ำและขยะอินทรีก็จะถูกนำไปใช้ผลิตปุ๋ยหมักเพื่อสร้างเกษตรอินทรี ซึ่งถ้าทำได้ก็จะเป็นผลดีต่อภาคตอนล่างเพราะปัจจุบันภาคอื่นเขามีโรงไฟฟ้าลักษณะนี้กันหมดแล้ว
- ส่วนที่ 3 นิคมอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องเน้นส่งเสริมเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ ซึ่งการเข้ามาของนักลงทุนเขาจะมองถึงความพร้อมของนิคมทั้งด้านแรงงาน พลังงาน การขนส่ง โดยที่นี่มีเจ้าภาพที่ดูแลชัดเจนคือทีพีไอ แตกต่างจากนิคมที่มีอยู่ทั้งที่ฉลุง และสะเดา ยังไม่มีความครบวงจร แน่นอนว่าการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมต้องกระทบต่ออาชีพ ต่อวิถีชุมชน แต่หากเราดูภาคตะวันออกเขามีผลด้านบวกมากกว่า
การเข้ามาของธุรกิจขนาดใหญ่แน่นอนว่าเขาก็มาพร้อมผลประโยชน์ พร้อมผลตอบแทนทางธุรกิจ แต่ถ้าเรามองในภาพรวมสิ่งที่จังหวัดสงขลาจะได้รับ การท่องเที่ยวของเมืองหาดใหญ่ที่หายไปก็จะได้สิ่งเหล่านี้มาทดแทน ผู้ที่เข้ามาทำงานในโครงการจากต่างพื้นที่เขาต้องมาพักมาเที่ยวที่หาดใหญ่ แรงงานในพื้นที่ก็จะมีงานทำใกล้บ้าน วันนี้ลูกหลานบ้านเราจำนวนมากที่ทำงานอยู่ภาคตะวันออก อยู่ต่างประเทศ ก็จะได้มาทำงานที่บ้านมาพัฒนาบ้านเรา ผมไม่มีที่ดินในพื้นที่ก่อสร้างไม่มีผลประโยชน์จากโครงการ แต่มองในภาพรวมของจังหวัดสงขลาเชื่อว่าจะได้ประโยชน์มากจากโครงการนี้ เราจึงควรมาช่วยกันผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว"
คือข้อสรุปที่ได้จากการพูดคุยกับนักธุรกิจมากความสามารถและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่จังหวัดสงขลามาโดยตลอด คุณวรวิทย์ พงษ์จีน ผู้บริหาร นีโอกรุ๊ป