อบจ.สงขลา เดินหน้าโครงการจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ+ควนเนียง-บางกล่ำ
อบจ.สงขลา เปิดเวทีรับรับฟังความคิดเห็นและประเมินความสนใจภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ 6 อำเภอ ใช้งบประมาณกว่า 1.2 พันล้าน ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้น้ำสะอาดอย่างยั่งยืน
(31 มี.ค.65) ณ ห้องลากูน่า คิงแกรนด์ บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมลากูน่า แกรนด์ แอนด์ สปา สงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและประเมินความสนใจของเอกชน (Market Sounding) โครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสงขลา ในพื้นที่ 6 อำเภอได้แก่ อ.สิงหนคร อ.ทิงพระ อ.กระแสสินธุ์ อ.ระโนด อ.ควนเนียง และอ.บางกล่ำ โดยมีผู้เข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่กว่า 100 คนเข้่ารวม โดยมี ดร.อับดลรอหมาน กาเหย็ม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นกะธานกล่าวเปิดงาน
นางสาวภพภร ทองคณารักษ์ ผู้อำนวยการกองผังเมือง อบจ.สงขลา กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้ดำเนินการศึกษาออกแบบโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสงขลา (อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอระโนด อำเภอควนเนียง อำเภอบางกล่ำ) จากผลการศึกษาโครงการดังกล่าว ได้เสนอแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมในรูปแบบการมอบให้เอกชนร่วมลงทุน จึงดำเนินการจ้างสำนักงานศูนย์วิจัยและให้เป็นที่ปรึกษาโครงการ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท ไซน์ - เทค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาโครงการโดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.เพื่อศึกษาวิเคราะห์ และทบทวนรายละเอียดความเหมาะสมด้านวิศวกรรมเศรษฐกิจ สังคม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การเงิน และการลงทุนของโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสงขลา รวมถึงการประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding)
2.เพื่อจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสงขลา ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562
3.เพื่อศึกษาวิเคราะห์ และนำเสนอแนวทางกำกับดูแลการบริหารสัญญา และการบริหารจัดการผลตอบแทนของภาครัฐ
สำหรับประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และประเมินความสนใจของเอกชน (Market Sounding) โครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสงขลาในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอความเป็นมาของโครงการฯ วัตถุประสงค์ของโครงการฯ ขอบเขตและขั้นตอนการศึกษาแผนการดำเนินงานโครงการฯ และรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่ และประเมินความสนใจของเอกชนเพื่อนำไปสู่การเริ่มดำเนินโครงการต่อไป
ด้าน ดร.อับดลรอหมาน กาเหย็ม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสงขลา เป็นโครงการที่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข การให้บริการสาธารณูปโภค เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้มีนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ โดยการจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำ จัดทำระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำพร้อมอาคารประกอบปรับปรุงซ่อมแซม บำรุงรักษา
"การดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เพื่อจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำประปาในการอุปโภค-บริโภคน้ำสะอาดถูกสุขอนามัย และมีคุณภาพเพียงพอต่อความต้องการของประชากรในพื้นที่ตลอดทั้งปี โดยฌฉพาะพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งขาดแคลนแหล่งน้ำดิบคุณภาพที่จะให้บริการประชาชนอย่างเพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมมาให้บริการแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป" ดร.อับดลรอหมาน กล่าว
ทางด้านที่ปรึกษาโครงการ เปิดเผยถึงประโยชน์ของโครงการว่า พื้นที่คาบสมุทรตอนบนจะมีแหล่งน้ำดื่ม 1 ลบ.ม. จะช่วยให้ประชาชนเขตพื้นที่สามารถเข้าถึงระบบน้ำประปาที่มีคุณภาพ ในการอุปโภค และบริโภค โดยจะมีการแบ่งโซนพื้นที่ให้บริการ ออกเป็น 2 โซน คือ โซนเหนือ ได้แก่ อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ มีโรงผลิตน้ำประปาอยู่ที่ อ.กระแสสินธุ์ ในส่วนของโซนใต้ ประกอบไปด้วย อ.บางกล่ำ อ.ควนเนียง อ.สิงหนคร โรงผลิตน้ำประปาตั้งอยู่ที่ อ.บางกล่ำ
ส่วนสถานีรับจ่ายน้ำประปา ประกอบไปด้วย ถังเก็บน้ำใสะดับต่ำกว่าพื้นดิน หอถังสูง และอาคารสูบจ่ายน้ำประปาแบบบ่อแห้ง (Dry pit) ระบบสูบจ่ายน้ำประปา ออกแบบให้มีจำนวนและขนาดที่เหมาะสมกับการใช้น้ำในช่วงเวลาต่าง ๆ มีระบบสำรองการทำงาน และระบบควบคุมปริมาณการจ่ายน้ำที่ผันแปรตามปริมาณการใช้งาน
ด้านส่วนภาคการปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าที่ร้อยตรีไกรธนู แกล้วทนงค์ ส.อบจ.เขต อำเภอระโนด ได้แสดงความห่วงใยว่า ขณะนี้พื้นที่อ.ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพรและสิงหนคร ทุกๆ ปีจะประสบปัญหาเรื่องน้ำมาโดยตลอดหากอบจ.จะเข้ามาดำเนินการจัดการน้ำอย่างจริงจังก็เห็นด้วย แต่ต้องมีการจัดหาแหล่งน้ำดิบที่เหมาะในพื้นที่ตลอดจนการประสานกับท้องถิ่นย่างเป็นรูปธรรมเพื่อการแก้ปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืน และประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ โครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสงขลา ในพื้นที่ 6 อำเภอ คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,250.32 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ระยะ แบ่งเป็นค่าที่ดิน ระบบผลิตจ่ายน้ำประปา และการก่อสร้างสถานีรับน้ำ 6 พื้นที่
ต้อม รัตภูมิ 0897384215 รายงาน