ครม.เห็นชอบ สงขลาเมืองเก่า ร่วมโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม วงเงิน 60 ล้านบาท
มติ ครม. 6 กันยายน 2565 เห็นชอบการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม : เมืองเก่าสงขลา (Culture Smart City : Songkhla Old Town) (โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบฯ) ในนามรัฐบาล โดยวงเงินงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบฯ ปี พ.ศ. 2565 – 2570 เป็นจำนวนเงิน 60 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ในพระราชกรณียกิจที่ทรงมีคุณูปการและเป็นอัคราภิรักษศิลปินที่ส่งเสริมงานด้านประเพณีและศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชาติเป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งเพื่อเป็นการผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และ Soft Power ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของท้องถิ่น นำรายได้เข้าประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และเพื่อผลักดันให้ “เมืองสงขลาเป็นเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม” เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ภายในพื้นที่ โดยการนำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาเชื่อมโยงเป็นเรื่องราว เกิดเป็นเอกลักษณ์ของเมืองที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นและประเทศชาติได้
รูปแบบ/แนวทางการจัดกิจกรรม
- กิจกรรมที่ 1 กิจกรรมตามรอยประวัติศาสตร์ศิลป์สุวรรณภูมิ สงขลาเมืองเก่าสู่การเป็นเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม ชมย่านเมืองเก่า สัมผัสวิถีชีวิตไทย จีน และมลายู ประกอบด้วย (1) เส้นทางอาหารถิ่นบนถนนนางงาม (2) เส้นทางสถาปัตยกรรมของย่านเมืองเก่าสงขลา (3) เส้นทางศิลปะการแสดง และ (4) เส้นทางแหล่งเรียนรู้มีชีวิต บ้านในกำแพงแหลมสน ชุมชนตำบลหัวเขา แผ่นดินพ่อค้าชาวจีนฟื้นฟูเมือง
- กิจกรรมที่ 2 การจัดงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ “เชื่อมโยงจากรุ่นสู่รุ่น New Gen Connected Art and Culture festival” ย่านเมืองเก่าสงขลา รวมถึงการสร้างเวทีศิลปวัฒนธรรมระดับนานาชาติ นิทรรศการศิลปะระดับนานาชาติ ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยใช้อาคาร ร้านค้า หอศิลป์ พื้นที่สาธารณะบริเวณย่านเมืองเก่าสงขลา เป็นพื้นที่จัดแสดงสาธิตการสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ประกอบด้วย (1) กิจกรรม Street Food (2) กิจกรรม Thai Show (3) กิจกรรม Street Show และ (4) กิจกรรม Street Craft
- กิจกรรมที่ 3 การจัดงานมหกรรมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage) กับการมีส่วนร่วมของเครือข่ายวัฒนธรรมในการบริหารจัดการงานวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งมีจุดเน้นกิจกรรมทางวัฒนธรรมของภาคใต้ ยกระดับการสร้างความรู้ความเข้าใจสู่การพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของประเทศ
- กิจกรรมที่ 4 กิจกรรมส่งเสริม Soft Power ในระดับนานาชาติ ณ Songkhla Pavilion นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี เพื่อส่งเสริมในการนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันเป็นวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ท้องถิ่นของประเทศไทยได้เผยแพร่สู่สายตาชาวโลก
- กิจกรรมที่ 5 การพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ “Treasure Thailand” รูปแบบของการให้บริการออนไลน์ สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ โดยเฉพาะ Metaverse2 เที่ยวทิพย์ผ่านโลกเสมือนจริง ระบบ 3 มิติ ในรูปแบบ VR (VR: Virtual Reality คือ การจำลองภาพให้เสมือนจริงแบบ 360 องศา โดยอาจต้องใช้อุปกรณ์เสริมอย่างแว่นตา VR เพื่อจำลองการรับรู้ การมองเห็น และการได้ยินเสียงในโลกเสมือนจริง เช่น จำลองการกระโดดร่ม, การขับเครื่องบิน, การเล่นเกมแนวต่อสู้ เป็นต้น) มีตัวละครในวรรณคดีของประเทศไทย พาชม พาชิม สร้างแรงจูงใจ ในการท่องเที่ยว ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย Soft Power
- กิจกรรมที่ 6 การประชาสัมพันธ์กิจกรรมและการบริหารจัดการอื่น ๆ ได้แก่ การบันทึกภาพระบบ HD การตัดต่อภาพเคลื่อนไหว (วีดิทัศน์) และการจัดทำรายการสถานีวัฒนธรรมสัญจร
ที่มา :Thaigov ,ชีวิตวิถีใหม่